สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 65
ประเทศไทยตอนบน ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (91 มม.) จ.ยะลา (85 มม.) และ จ.ปัตตานี (79 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 44,125 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,372 ล้าน ลบ.ม. (76%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 พ.ย. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,654 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,484 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลง
สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 4 พ.ย. 65 สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,556 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย. 65
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน พบว่าไม่มีฝนตกหนักแต่แม่น้ำท่าจีนยังมีปริมาณน้ำมากและล้นตลิ่งบางแห่ง ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน บริเวณปากน้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในวันที่ 11, 26 พ.ย. 65 และในช่วงวันที่ 9 – 10, 15 – 26 ธ.ค. 65 ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้แม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่ อ.สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน นครชัยศรี และสามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15- 0.30 เมตร ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65
1.1 การประปานครหลวง จัดโครงการ “คุณภาพน้ำเพื่อคุณภาพชีวิต”สร้างความมั่นใจน้ำประปาสะอาดปลอดภัย ให้สถานศึกษาในพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ พร้อมทั้งแนะนำวิธีดูแลรักษาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบประปา เช่น ถังพักน้ำ เครื่องกรองน้ำ ตู้น้ำดื่ม ให้กับโรงเรียนอนุบาลแสงโสม โรงเรียนอนุบาลฉัตรเฉลิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “คุณภาพน้ำเพื่อคุณภาพชีวิต” เนื่องในโอกาส 130 ปี กระทรวงมหาดไทย เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่นักเรียน อาจารย์ และบุคลากรในโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ
1.2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและผู้นำท้องถิ่น ลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างระบบประปาบาดาล พร้อมแนะนำวิธีการใช้งานและบำรุงรักษาแก่ผู้ใช้น้ำในเบื้องต้น โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พื้นที่ 500 ไร่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (งบกลาง) ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาถึงประเทศจีนตอนกลางและปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อยในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส และยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียและช่องแคบมะละกาทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,267 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,092 ล้าน ลบ.ม. (84%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,011 ล้าน ลบ.ม. (91%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,164 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,084 ล้าน ลบ.ม. (77%)
4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง
4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 14.54 น. ประมาณ 1.66 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวิเคราะห์แล้วพบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา