ttb analytics มองธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สร้างรายได้แบบเรียลไทม์
ช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตอาจเป็นโอกาสสำหรับบางธุรกิจให้ขยายตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีในช่วงการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็ยังคงมีแนวโน้มที่เติบโตดีต่อเนื่อง จากการเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมสินค้ามากมาย โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการตอบสนองที่รวดเร็วทันใจในทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์
ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในไทยมีมานานกว่า 20 ปี แต่เริ่มมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 10 แบรนด์ ด้วยจำนวนมากกว่า 30,000 ตู้ แต่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่พื้นที่เขตกรุงเทพและภาคตะวันออกรวมแล้วมากกว่า 60% โครงสร้างธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบด้วยธุรกิจตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ 60% และตู้จำหน่ายขายสินค้าอื่น ๆ 40% ส่วนแบรนด์หลัก ๆ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูง อาทิ ซัน108 ของกลุ่มสหพัฒน์ฯ เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาด มีสินค้าหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ รองลงมาเวนดิ้งพลัสของกลุ่มสบาย เทคโนโลยี จำหน่ายสินค้าตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย และตู้เต่าบินที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2564 ของกลุ่มฟอร์ท เวนดิ้ง
รายได้ธุรกิจตู้จำหน่ายอัตโนมัติยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากการวิเคราะห์รายได้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ พบว่าในปี 2564 มีรายได้อยู่ประมาณ 6,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563 แม้ยังเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ เมื่อดูจากตัวเลขการนำเข้าตู้จำหน่ายอัตโนมัติ พบว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยส่วนที่เป็นตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติมีการนำเข้าในอัตราชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ในขณะที่ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติประเภทอื่น ๆ ยังมีการนำเข้าสูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจสามารถพัฒนาและผลิตตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติได้เองออกมาตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากขึ้น สำหรับในปี 2565 คาดจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งสอดคล้องกับการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ตั้งเป้าขยายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติในเชิงรุก โดยมีแผนการกระจายตู้ขายไปยังจุดที่บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม บริษัท อาคารสำนักงาน สถานศึกษา
หลากหลายปัจจัยหนุนการเติบโตธุรกิจในอนาคต ดันยอดขายเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เมื่อพิจารณาจาก
พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตเร่งรีบ ชอบความสะดวกสบาย มีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากขึ้น โดยกระแสความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติมากขึ้น อีกทั้งมีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากขึ้น ที่สำคัญคือพัฒนาการของระบบการชำระเงินของตู้อัตโนมัติในปัจจุบันเติมเต็มไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ด้วยช่องทางชำระเงินหลากหลายทั้งเงินสดและกระเป๋าเงินดิจิทัล พร้อมเพย์และสแกนจ่าย
เป็นทางเลือกในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ปัจจุบันนอกจากตู้บริการเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นมานาน ยังมีสินค้าอย่างอื่นอีกมากมายที่สามารถวางขายในตู้อัตโนมัติได้ การขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติช่วยประหยัดเรื่องของต้นทุนพื้นที่เช่าและค่าพนักงาน เครื่องเหล่านี้สามารถตั้งได้ในพื้นที่จำกัดทำให้ค่าเช่าพื้นที่หน้าร้านถูกลงมาก ตัวอย่าง ค่าเช่าพื้นที่ในตึกออฟฟิศใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือคอนโดมิเนียมที่มีผู้อาศัยอยู่มาก อยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อเดือน นอกจากค่าเช่าถูกแล้ว ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินั้นสามารถขายสินค้าได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้ การขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการดูทันสมัยยิ่งขึ้นจากการที่ตู้จำหน่ายอัตโนมัติทำหน้าที่เหมือนเป็นป้ายโฆษณา ดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน อีกทั้งทำให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หลากหลายอีกด้วย
เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก สะท้อนจากความหนาแน่นของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต่อประชากรไทยยังต่ำ เทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติกว่า 4 ล้านเครื่องคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั่วโลก ในขณะเดียวกันเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ 1 เครื่องจะครอบคลุมประชากรญี่ปุ่นราว 30 คน ซึ่งถือเป็นความหนาแน่นต่อประชากรที่มากที่สุดในโลก ขณะที่สัดส่วนของไทยอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 366 คน เมื่อพิจารณาจากจำนวนตู้อัตโนมัติทั่วประเทศราว 30,000 ตู้เทียบกับประชากร 11 ล้านคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตู้อัตโนมัติมากสุด ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี สัดส่วนอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 255 คน และสิงคโปร์ 1 เครื่องต่อประชากร 360 คน
ผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใช้กลยุทธแฟรนไชส์ต่อยอดธุรกิจขยายสาขา เจาะเมืองท่องเที่ยว เมืองใหญ่ ทำเลย่านชุมชน เมื่อธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเริ่มลงตัวและบริษัทมองว่าธุรกิจของตนสามารถเติบโตได้อีก แต่บริษัทไม่มีกำลังมากพอที่จะดูแลการเติบโต เนื่องจากปัจจัยข้อจำกัดเช่นเรื่องพื้นที่ที่ห่างไกล จำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ที่ไม่เพียงพอบริษัทสามารถพัฒนาระบบแฟรนไชส์ขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจสามารถมาลงทุนในกิจการของตน เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
จากหลายปัจจัยหนุนธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้เติบโต ทำให้ในปี 2566 คาดว่ามีผู้ประกอบการในธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นรูปแบบการเป็นแฟรนไชส์ ดันรายได้ธุรกิจในภาพรวมขยับสูงเป็น 1 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตปีละ 13-15% รวมทั้งจะได้เห็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในรูปแบบใหม่ ๆ ดึงดูดผู้บริโภคในตลาดมากขึ้น