IBANK รอดึงทุนใหม่สยายปีก
ไอแบงก์เล็งแก้หนี้เน่าเฉียดหมื่นล้านบาทเอง เผยเตรียมจัดชั้นแยกหนี้ “ดี-เสีย” มั่นใจเอาอยู่ ย้ำลูกหนี้ใหม่ต้องไม่เกิดเอ็นพีเอฟ ระบุคลังพร้อมเปิดช่องกลุ่มทุนใหม่เติมเงิน รับการขยายงานในอนาคต คาดทั้งปีฟันกำไร 1,000 ล้านบาท แม้ไตรมาสแรกรับเบาะๆ แค่ 170 ล้านบาท ระบุยังมุ่งจับกลุ่มรายย่อยมุสลิม พ่วงรัฐวิสาหกิจและรายใหญ่คุณภาพ
นับเป็นการเปิดตัว “แพ็กคู่” ครั้งแรกของ นายระเฑียร ศรีมงคล ปธ.บอร์ดฯ และ นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กก.ผจก.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) หลังจากธนาคารแห่งนี้ได้ดำเนินการมาจนก้าวสู่ปีที่ 17 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันแรกที่เริ่มดำเนินการมาเมื่อ 16 ปีก่อน
ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองที่พวกเขาปลดพันธนาการจากการเข้าไปอยู่ในวังวนของแผนฟื้นฟูกิจการ หลังประสบวิกฤติในช่วงที่ผ่านมา เมื่อช่วงต้นปี 62 ไม่เพียงแค่นั้น ธนาคารอิสลามฯ ยังสร้างกำไรในสิ้นปี 61 ถึง531 ล้านบาท และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากกระทรวงการคลังเพิ่มทุนให้ 1.8 หมื่นล้านบาท เมื่อช่วงพ.ย.61
นายระเฑียรกล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/62 มีมติเมื่อ 17 ม.ค.62 ให้ไอแบงก์ออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรและมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแล เพื่อให้สามารถกำเนินงานตามแผนต่อไปนั้น ทางบอร์ดไอแบงก์ก็ได้มอบนโยบายแก่ฝ่ายจัดการในการสร้างความยั่งยืน ทั้งทางการเงิน การปฏิบัติการ และธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายวุฒิชัยกล่าวว่า ต่อเนื่องจากกำไร ณ วันสิ้นปีก่อน ที่มี 531 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 80,590 ล้านบาทโดยธนาคารฯมีกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้กว่า 170 ล้านบาท อย่างไรก็ตามถือว่ายังต่ำ เมื่อเทียบกับเป้าหมายกำไรทั้งปีที่ 1,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อใหม่ในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2,517 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อในปัจจุบันมีราว 52,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมายปีนี้ ที่ร้อยละ 0.23
ด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการต้นทุนต่อรายได้ อยู่ที่ร้อยละ 70 ดีเกินเป้าหมายเช่นกัน แต่ที่ยังเป็นไปห่วงคือหนี้เสีย (เอ็นพีเอฟ) ซึ่งยังคงมีสะสมในอัตราที่สูงกว่า 1.2 หมื่นล้าน และมาจากปัญหาเก่า โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นหนี้เสียสีเทาเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถจะบริหารจัดการให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ ตรงนี้ ธนาคารฯ จะดำเนินการแก้ปัญหาเอง
โดยในส่วนลูกหนี้รายย่อยไม่น่าจะมีปัญหา แต่กับกลุ่มลูกหนี้รายใหญ่และเอสเอ็มอี นั้นธนาคารฯจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปโดยจะใช้แนวทางผ่อนปรน เพื่อให้ลูกหนี้ได้กลับมาอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่หากรายใดไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ธนาคารฯก็จะปรับให้ตกชั้นไป
“เราพยายามจะดูแลลูกค้ารายใหม่เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาเอ็นพีเอฟตามมา โดยจะเน้นลูกค้ารัฐวิสาหกิจ และรายใหญ่ที่มีคุณภาพและความเสี่ยงต่ำ รวมถึงลูกค้าหลักคือรายย่อยมุสลิม”
นายวุฒิชัยยอมรับว่า ปัญหาเงินทุนและการสำรองฯ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นจะต้องได้กลุ่มทุนรายใหม่มาเติมเต็ม ซึ่งกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นใหญ่ถึงร้อยละ 99.5% ก็เปิดช่องให้เพียงแต่ระหว่างนี้ ธนาคารฯ จะต้องปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ก่อนจะดึงกลุ่มทุนใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพในภายหลัง
ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีแผนจะยกระดับการให้บริการทางการเงินเพื่อให้ทัดเทียมสถาบันการเงินอื่นๆ และเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้า โดยขณะนี้ลูกค้าสามารถรับโอนผ่านแอปฯของธนาคารอื่นๆ ได้แล้ว ส่วนโครงการโมบายแบงก์กิ้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ช่วงกลางปี 63.