สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ต.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ภาคใต้มีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (83 มม.) จ.ภูเก็ต (76 มม.) และ จ.พังงา (51 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 30 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,130 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 1,979 ลบ.ม./วินาที
สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 30 ต.ค. 65 สถานีวัดน้ำท่า M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 4,172 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับในลำน้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย. 65
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,434 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,223 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามนโยบายของ กอนช.
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้มีแนวโน้มลดลงและเริ่มคลี่คลายตามลำดับ เนื่องจากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่ กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ และกักเก็บน้ำ รวมถึงการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เข้าไปฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ดังนี้
เร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม ต.เกิ้งและ ต.ท่าตูม อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดต่างๆ รวม 19 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้วันละประมาณ 1.5 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 8 เครื่อง บริเวณหมู่บ้านแจ้งจม ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำท่วมขังและพื้นที่การเกษตร ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ทำความสะอาด ล้างอาคาร ถนน เก็บขยะ บริเวณโดยรอบสำนักงานสหกรณ์จ.อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อเตรียมรับการเปิดให้บริการประชาชน และมอบน้ำดื่มและยาสามัญประจำบ้าน ให้กับ ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบภัยน้ำท่วม หมู่ที่ 24 บ้านดงคำอ้อ ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
สนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน เข้าไปฉีดน้ำ ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลอินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วจำนวน 1 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่บริเวณ ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่บริเวณ ต.หนองสาหร่าย อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่บริเวณ ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งว่าคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ภายใต้ กอนช. มีการติดตามสถานการณ์น้ำและหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยขณะนี้มีการปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีมติให้กรมชลประทานพิจารณาเร่งการระบายน้ำออกจากทุ่งฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และให้กรมชลประทานพิจารณารับน้ำเข้าทางฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วขึ้นประมาณ 1-2 สัปดาห์
สำหรับสถานการณ์ของลุ่มน้ำชี-มูล พบว่า บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก นาเยีย สิรินธร บุณฑริก กุดข้าวปุ้น และโขงเจียม และยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมอีก 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ ดอนมดแดง ตาลสุม และเขื่อง ในพื้นที่การเกษตรและเส้นทางคมนาคมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้บางเส้นทาง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้าดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
2. สภาพอากาศ
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่เข้าสู่ฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป โดยอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนจะลดลงต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง และทิศทางลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก ประกอบกับปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเริ่มต้นของฤดูหนาวในปีนี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกในบางช่วง ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป
3. สถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 28 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ภาคกลาง 11 จังหวัด ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก 2 จังหวัด นครนายก ปราจีนบุรี