มูลค่าก่อสร้างภาครัฐ ปี 65-66 คาดขยายตัวจาก Mega projects แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง
มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและการกลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการต่อเนื่องได้ภายหลังการหยุดชะงักและล่าช้าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงยังมีโครงการประมูลใหม่ๆ ที่จะเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2566
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 8.4-8.5 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.5-3.5% โตจากฐานต่ำปี 2565 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญของปี 2566 ยังมาจากโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega projects) โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงข้างหน้า ยังคงอยู่ที่การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมที่อาจทำให้การก่อสร้างเกิดความเสียหายและล่าช้าในบางพื้นที่
การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางบก ราง น้ำ และอากาศ ทั้งนี้ จากพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ทางกระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด โดยมีวงเงินงบประมาณรวมราว 2.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ราว 9.8% โดยส่วนใหญ่จะเป็นงบรายจ่ายลงทุนของกระทรวงคมนาคมราว 2.02 แสนล้านบาท โดยมีแผนที่จะพัฒนาโครงการลงทุนก่อสร้างพื้นฐานทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ ขณะเดียวกัน โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการมีความคืบหน้ามาตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐ[1] ปี 2566 อยู่ที่ราว 8.4-8.5 แสนล้านบาท หรือคาดว่าจะเติบโตอยู่ในกรอบ 2.5-3.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวจากฐานต่ำในปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7% (ครึ่งแรกของปี 2565 มีอัตราการเติบโต -2.9%) โดยแรงขับเคลื่อนหลักจะยังมาจากโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega projects)
แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนราว 65%[1] ขณะที่อีก 35%2 จะเป็นโครงการใหม่ๆ ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่จะยังเป็นการปรับพื้นที่ก่อสร้าง การเวนคืนที่ดิน และงานก่อสร้างเบื้องต้น
โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่สำคัญในปี 2566 จะเป็นโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นอกจากนี้จะมีโครงการที่คาดว่าจะเดินหน้าก่อสร้างได้ต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่ได้เริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ขณะที่ ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามแผนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอื่นๆ ที่อาจจะมีการลงทุน เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง (M7) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ การลงทุนก่อสร้างจะช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งรายใหญ่ที่มีส่วนร่วมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่และรายย่อยที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractor) ตลอดจนธุรกิจผลิตและค้าขายวัสดุก่อสร้างที่จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการต่างๆ รวมไปถึงภายหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ น่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์และสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างยังน่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและปัจจัยท้าทายในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2566 ไม่ว่าจะเป็น
ต้นทุนการก่อสร้างที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น
ต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้จะเริ่มเห็นการลดลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับลดลง โดยเฉพาะราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีสัญญาณปรับลงจากจุดสูงสุด และแนวโน้มการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในจีนลดลงซึ่งทางจีนได้เริ่มระบายอุปทานส่วนเกินของอะลูมิเนียมไปยังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง (CMI) โดยคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สงบอาจจะดันราคาวัสดุก่อสร้างให้เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงซึ่งจะกระทบต่อการนำเข้าวัสดุก่อสร้าง รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5% จากอัตราเดิมในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป โดยธุรกิจก่อสร้างมีสัดส่วนการจ้างแรงงานรายวันค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น หรืออยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน[1] คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของจำนวนแรงงานในภาคก่อสร้างทั้งหมด จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าอาจทำให้อัตรากำไรของธุรกิจลดลงราว 5%-15% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมโดยรวม
ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอาจกระทบต่อสภาพคล่องและการรับรู้กำไรของผู้ประกอบการในระยะต่อไป ทั้งนี้เริ่มเห็นการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังภาคเศรษฐกิจผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง และไปข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยยังมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
ความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมซึ่งเป็นผลจากปรากฎการณ์ลานีญาที่มีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงปี 2566 หรือ 3 ปีซ้อน (อ้างอิงจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) อาจทำให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ เกิดความเสียหายและหยุดชะงัก หรือแม้บางพื้นที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยตรงแต่อาจจะได้รับผลกระทบจากความไม่สะดวกในการขนย้ายแรงงานและวัสดุก่อสร้างซึ่งอาจทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า
ความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมซึ่งเป็นผลจากปรากฎการณ์ลานีญาที่มีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงปี 2566 หรือ 3 ปีซ้อน (อ้างอิงจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) อาจทำให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ เกิดความเสียหายและหยุดชะงัก หรือแม้บางพื้นที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยตรงแต่อาจจะได้รับผลกระทบจากความไม่สะดวกในการขนย้ายแรงงานและวัสดุก่อสร้างซึ่งอาจทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า
นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นทางการเมืองที่อาจต้องติดตามการเลือกตั้งในช่วงกลางปีหน้าซึ่งอาจมีผลต่อการอนุมัติโครงการลงทุนก่อสร้างต่างๆ กระบวนการเวนคืนที่ดินและการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เพราะไม่เพียงจะกระทบต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะถัดไปแล้ว ยังอาจกระทบราคาวัสดุก่อสร้างในตลาดโลกและจะส่งผ่านมายังราคาในประเทศ ดังนั้น ความท้าทายในระยะข้างหน้าสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง จะยังคงอยู่ที่การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนแรงงาน และต้นทุนทางการเงิน รวมไปถึงการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุการณ์ น้ำท่วมที่อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ก่อสร้าง