สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ต.ค. 65
ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (74 มม.) จ.กาญจนบุรี (66 มม.) และ กรุงเทพมหานคร (63 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 29 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สตูล และนราธิวาส
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,448 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,194 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 22 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร บึงบระเพ็ด และหนองหาร
รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อประชาชนผู้ประสบอุทกภัย กำหนดลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ ณ จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในวันจันทร์ที่ 24 ต.ค. 65 เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม เยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอน้ำลด
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งกำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่หน่วยงานปฏิบัติภายใต้ กอนช. เพื่อระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง ที่ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือ ใช้ทุกกลไกในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางเดือน พ.ย. จะเข้าสู่สภาวะปกติ
จากการเปรียบเทียบปริมาณฝน ตั้งแต่ 1 ม.ค.–20 ต.ค. 65 พบว่า สูงกว่าค่าปกติถึง 21% โดยสูงกว่า ปี 2564 ปริมาณ 295 มม. หรือ 17% แต่ต่ำกว่าปี 2554 เพียง 10 มม. โดยฤดูฝนปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 3,105 ลบ.ม./วินาที และมีน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง 659 ลบ.ม./วินาที ไหลมาสมทบรวมมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 3,707 ลบ.ม./วินาที
สำหรับการสำรวจพื้นที่เสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างวันที่ 1-20 ต.ค. มีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 8.7 ล้านไร่ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานสำรวจความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ดำเนินการสำรวจประมาณราคาความเสียหาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนลดลงและกำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งกำกับติดตามหน่วยงานด้านน้ำบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ระบุสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย คาดเข้าสู่สภาวะปกติช่วงกลางเดือนพ.ย. พร้อมย้ำเทียบปริมาณฝนกับพื้นที่น้ำท่วมไม่เท่าปี 2554 แม้ฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึง 21% และยังคงเน้นย้ำในการบูรณาการ โดยกำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่หน่วยงานปฏิบัติภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง ที่ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือ ใช้ทุกกลไกในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้อย่างเร่งด่วน
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 23 – 25 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 28 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ลมตะวันออกที่พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,448 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,194 ล้าน ลบ.ม. (84%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,088 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,166 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 20,553 ล้าน ลบ.ม. (83%) โดยเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก
4. สถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 29 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 10 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา และภาคใต้ 3 จังหวัด ภูเก็ต สตูล และนราธิวาส