สมอ.นำระบบต้านโกงสากล สร้างภาครัฐโปร่งใส
สมอ. เตรียมนำ ระบบการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ระดับสากล มาใช้ในกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมอบรมผู้บริหารและข้าราชการ นำไปประยุกต์ใช้เพื่อต่อต้านการให้และรับสินบน สร้างมาตรฐานความโปร่งใส
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรมาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการให้และรับสินบน ISO 37001 : 2016 Anti-bribery management systems แก่ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวอุตสาหกรรม ว่า ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาระดับโลกที่มีความรุนแรง และซับซ้อนมากขึ้นตามการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO (International Organization for Standardization) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดและประกาศใช้มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001 Anti – bribery management systems ขึ้น
ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่น โดยองค์กรที่จะนำมาตรฐานไปใช้ จะต้องประกาศนโยบายการต่อต้านการให้และรับสินบน มีความมุ่งมั่น มีการควบคุมและการฝึกอบรมบุคลากร รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ มีการควบคุมทางการเงิน การค้า และการทำสัญญา มีการรายงาน การเฝ้าติดตาม การสืบสวน และการทบทวน รวมถึงมีการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรฐานดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงาน
สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้ประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 1 ใน 23 ประเด็น คือ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีเป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย เมื่อสิ้นสุดปี พ.ศ.2565 อันดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 54 และ/หรือ ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน
ที่ผ่านมา สมอ. ได้นำมาตรฐานระบบการจัดการดังกล่าวมาเผยแพร่ ให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่ายได้เข้ารับการอบรมกว่า 100 คน รวมทั้งบุคลากรจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศอีกกว่า 200 คน เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการขององค์กร ในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาการติดสินบน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการต่อต้านการให้และรับสินบนให้ดียิ่งขึ้น และจะได้นำไปเผยแพร่ให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตนเองอย่างทั่วถึงต่อไป
นายวันชัย กล่าวต่อว่า การที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO กำหนดมาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001 Anti–bribery management systems เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นปัญหาของโลกที่ทุกประเทศต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไข
อย่างไรก็ดี สมอ. ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ และในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ ISO ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐาน ISO 37001:2016 จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และคาดหวังว่าหากหน่วยงานต่างๆ นำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นก็จะลดน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ.