สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 ต.ค. 65

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง มีฝนเล็กน้อยบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ชุมพร (104 มม.)จ.ภูเก็ต (89 มม.) และ จ.ระนอง (81 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,801 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,879 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 23 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย บึงบระเพ็ด ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง หนองหาร จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และนฤบดินทร
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี สั่งเตรียมพร้อมรับมือฝนภาคใต้
วานนี้ (17 ต.ค. 65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมในพื้นที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. นำเสนอแผนงานด้านทรัพยากรน้ำและการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทาน นำเสนอสถานการณ์น้ำ แผนการดำเนินงานโครงการแก้มลิงสระบัว (อ่างเก็บน้ำทุ่งกระจูด) กรมโยธาธิการและผังเมือง นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นำเสนอการเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ณ ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และลงพื้นที่ติดตามโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี ติดตามโครงการแก้มลิงสระบัว (อ่างเก็บน้ำทุ่งกระจูด) ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการวางแผนและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้จังหวัด กรมชลประทาน ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจจุดที่เสี่ยงน้ำท่วม สิ่งกีดขวางทางน้ำ และรายงานต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดมาตรการรองรับต่อไป และมอบหมายให้กรมชลประทาน เร่งสำรวจและซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และวางแผนเก็บกักน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งหน้าด้วย ให้ สทนช. เร่งรัดขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระดับพื้นที่ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ และให้ทุกหน่วยงาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบเป็นการล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง