สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ต.ค. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
พายุโซนร้อน เซินกา (SONCA) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมือง กว๋างหงาย ประเทศเวียดนาม ศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 109 กิโลเมตร ทางตะวันออกของแขวงเซกอง ประเทศลาว โดยจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.สตูล (121) จ.ตาก (67) และจ.ประจวบคีรีขันธ์ (50)
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,565 ล้าน ลบ.ม. (82%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,596 ล้าน ลบ.ม. (82%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แม่มอก กิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อย ทับเสลา กระเสียว ป่าสัก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินทร ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา หนองหารและบึงบระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศฉบับที่ 50/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน ในช่วงวันที่ 13 – 16 ต.ค. 65 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. ลำห้วยกระเสียว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ต.แจงงาม และหนองโพธิ์ อ.หนองหญ้าไซ ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง ต.กระเสียว และหนองสะเดา อ.สามชุก ต.หนองกระทุ่ม ป่าสะแก วังศรีราช หัวเขา และบ่อกรุ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งประมาณ0.10 – 0.15 เมตร
2. แม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่ อ.สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน นครชัยศรี และสามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
สทนช.ลงพื้นที่ 4 จังหวัดตรวจความพร้อมระบบชลประทานเร่งระบายน้ำออกทะเล
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในการเร่งระบายออกสู่ทะเลโดยเร็วตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ บริเวณประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ อ.หนองแค จ.สระบุรี จุดก่อสร้างบริเวณประตูระบายน้ำคลอง 14 อ.องครักษ์ จ.นครนายก สถานีสูบน้ำสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำบางขนาก จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองพระองค์ไชยานุชิต อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ขณะนี้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลง กรมชลประทานจึงได้เริ่มลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบประชาชนด้านท้าย ศูนย์ส่วนหน้าฯ จ.ชัยนาท ภายใต้ กอนช.ได้เร่งดำเนินการใน 6 แนวทางเพื่อเร่งระบายน้ำหลากออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็วเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ 1.ลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนวังร่มเกล้า และเขื่อนพระรามหก รวมถึงแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อยลงตามลำดับตามสัดส่วนของปริมาณน้ำที่ลดลง 2.ลดการรับน้ำไหลย้อนผ่านประตูผักไห่โดยให้กดบานลงตามระดับน้ำที่ลดลง 3.ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจากทุ่งผักไห่ลงสู่ทุ่งเจ้าเจ็ดโดยเร็ว 4.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากคลองพระยาบรรลือโดยให้เร่งสูบลงด้านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
5.ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ปรับลดการรับน้ำลงสู่ทุ่งบางกุ่มและบางกุ้งโดยให้พิจารณาผลกระทบเขต จ.อ่างทองไม่ให้น้ำเพิ่มขึ้นจนไหลล้นแนวป้องกัน และ 6.ให้เร่งอุดช่องขาดคันคลองชัยนาท-อยุธยาจำนวน 5 แห่งให้เสร็จโดยเร็ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 15 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2565 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน พบว่ามีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2565 บริเวณตอนบนเขื่อนกระเสียว ส่งผลให้วันที่ 11 ต.ค. 2565 มีน้ำปริมาณมากไหลเข้าเขื่อนกระเสียว 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกัก 318 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 106% และมีน้ำไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นและอาคารระบายน้ำในตัวเขื่อน รวม 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงสู่ลำห้วยกระเสียวและแม่น้ำท่าจีนตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นในช่วงวันที่ 13 – 16 ต.ค. 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน บริเวณปากน้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ลำห้วยกระเสียว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ตำบลแจงงาม และหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง ตำบลกระเสียว และหนองสะเดา อำเภอสามชุก ตำบลหนองกระทุ่ม ป่าสะแก วังศรีราช หัวเขา และบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร และแม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่อำเภอสามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลน นครชัยศรี และสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอกระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนี้ ประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จุดก่อสร้างบริเวณประตูระบายน้ำคลอง 14 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก สถานีสูบน้ำสมบูรณ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก, จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองพระองค์ไซยานุชิต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์มสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย รวมถึงสถานการณ์พายุ “โนรู (NORU)” ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 8 ต.ค. 65 จำนวน 56 จ. 297 อ. 1,476 ต. 9,165 ม. ประชาชนได้รับผลกระทบ 394,256 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 34 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ และตาก ภาคกลาง 12 จังหวัด จังหวัดลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และนนทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด จังหวัดหนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระยอง และนครนายก