CP All ดึง”แอโรบินดุ้ง”รุกอุตฯบริการบิน
ซีพี ออลล์ จับมือ บ.แอโรบินดุ้ง จากเยอรมนี จัดตั้งศูนย์สอบภาคทฤษฎีช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรฐานเอียซ่า หวังเพิ่มขีดความสามารถคนไทยในอาชีพอุตสาหกรรมการบินเทียบมาตรฐานโลก
บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท แอโรบินดุ้ง (AERO Bildung) ประเทศเยอรมนี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการบิน” จัดตั้งศูนย์สอบภาคทฤษฎีช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน พร้อมจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นตามมาตรฐาน EASA Part 66 เพื่อยกระดับองค์ความรู้ครู-อาจารย์ ของสถานศึกษาที่เปิดหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน รวมทั้งเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้น พัฒนาบุคลากรบริการภาคพื้น เตรียมความพร้อมนักศึกษาจบใหม่ก้าวเข้าสู่โลกอาชีพอุตสาหกรรมการบิน
ทั้งนี้ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ปธ.กก.บห. บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Cuve) ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าสูงและต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและทักษะการทำงานระดับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การผลิตสินค้าและบริการ การจ้างงาน ฯลฯ การส่งเสริมการศึกษา พัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานความสามารถของคนไทยให้เทียบเท่าระดับโลก
ล่าสุด ซีพี ออลล์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท แอโรบินดุ้ง (AERO Bildung) ประเทศเยอรมนี โดย มิสเตอร์ Gerhard Rooss, ตัวแทนบริษัทแอโรบินดุ้ง ประจำประเทศไทย เพื่อดำเนิน“โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการบิน” โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธาน
สำหรับ โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการบิน นี้ บริษัท ปัญญธารา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม ซีพี ออลล์ จะได้รับการจดทะเบียนเป็นศูนย์สอบ EASA Part 66 อย่างเป็นทางการของบริษัท แอโรบินดุ้ง ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต (License) จากองค์กรความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA) หรือ “เอียซ่า”
นอกจากการขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์สอบของแอโรบินดุ้งแล้ว บริษัท ปัญญธารา จำกัด จะให้บริการฝึกอบรมระยะสั้น โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 2 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aircraft Maintenance) ประกอบด้วยเนื้อหา 13 หลักสูตรมีระยะเวลาอบรมรวม 80 วันเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงการอบรมแบบ Train the Trainer เพื่อพัฒนาครู-อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA Part 66 และ 2.หลักสูตรการจัดการสนามบิน (Airport Management) ประกอบด้วยเนื้อหา 5 หลักสูตรครอบคลุมการปฏิบัติงานในหน้าที่บริการผู้โดยสาร (Passenger Service), บริการที่ลานจอด (Ramp Service) และบริการขนส่งสินค้า (Cargo Service)
โดยมีระยะเวลาอบรมรวม 4 เดือน รวม 480 ชั่วโมงเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ ด้านการบริการ การบริหารจัดการ และปฎิบัติงานและให้บริการภาคพื้นดิน เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจสายการบิน (Airline) ธุรกิจสนามบิน (Airport) ธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ (Cargo and Air Freight) และธุรกิจที่ได้สัมปทานร้านค้าและพื้นที่เช่า
การที่ ซีพี ออลล์ ดำเนินงานร่วมกับ แอโรบินดุ้ง และพันธมิตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน เป็นการแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประเทศไทย 4.0 พร้อมให้ความร่วมมือในการการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถเชื่อมโยงการอบรมระยะสั้นเข้ากับการจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน(Work-Based Learning) ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อีกด้วย
“ซีพี ออลล์ เป็นบริษัทชั้นนำของไทยที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาบุคลากรของประเทศเพื่อให้มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และ เป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งเป็นไปตามปณิธานของบริษัทคือ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” นายก่อศักดิ์ ย้ำ.