รถไฟไทย-ลาวใกล้เชื่อมกันแล้ว
รองนายกฯ อนุทิน เตรียมนำทีมไทยแลนด์เยือนเวียงจันทน์ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. ร่วมหารือผู้แทน สปป.ลาว วางแนวเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่าง 2 ประเทศ
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาวและจีน จะนำคณะทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เดินทางไปไปร่วมประชุมกับผู้แทนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ระหว่างไทยกับสปป.ลาว ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์
ทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือกันทั้งในส่วนของการเชื่อมโยงผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า แนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ตลอดจนการร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านคมนาคมทางถนน ทางรถไฟ โลจิสติกส์ และการบินพลเรือน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในโอกาสนี้ คณะของรองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปศึกษาดูการดำเนินงานและรับฟังข้อมูลการดำเนินงานของโครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค (Vientiane Logistics Park : VLP) ซึ่งเป็นพื้นที่การบริหารจัดการการสินค้าที่ขนส่งระหว่าง สปป.ลาวและจีนโดยเส้นทางรถไฟ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนงานการเชื่อมต่อขนส่งสินค้าที่จะมายังประเทศไทยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับการพัฒนาศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดหนองคายแล้ว ได้แก่ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีนาทา โดยอยู่ภายใต้การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่2 (นครราชสีมา-หนองคาย)
นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีกำหนดการรับฟังข้อมูลการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว พร้อมเยี่ยมชม Control Room และทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังสถานีหลวงพระบาง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นแผนงานของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง เพื่อสนับสนุนเส้นทางการขนส่งสินค้า ยกระดับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในระยะต่อไปจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อรองรับทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การขนส่งต่างๆ ตามแนวเส้นทาง เกิดงานและอาชีพอีกจำนวนมากตามมา
โดยปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อยู่ระหว่างการพัฒนา ระยะที่1 (กรุงเทพฯ -นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2569 มีคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว และจีน รวมถึงคณะของกระทรวงคมนาคมติดตามความคืบหน้าโครงการและรายงานให้รัฐบาลรับทราบอย่างต่อเนื่อง