ธพว.หนุนธุรกิจชุมชนเชื่อมเศรษฐกิจชาติ
ธพว.ผนึก ม.หอการค้าไทย สำรวจสถานภาพธุรกิจชุมชน ชี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชาติได้อย่างแรง แต่ยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ด้าน SME D Bank พร้อมอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 หมื่นล้านบาท ยกระดับธุรกิจชุมชน หวังเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากระดับประเทศ
“สถานภาพธุรกิจชุมชน” โจทย์ล่าสุดที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME D Bank) มอบให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เร่งสำรวจกลุ่มธุรกิจชุมชน 795 ตัวอย่างทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ปัญหาและโอกาส ก่อนขยายผลช่วยเหลือคนกลุ่มนี้
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ของธุรกิจชุมชนเชื่อมโยงกับภาคการเกษตร มีการใช้แรงงานเป็นหลักถึง 56.12% ที่เหลืออีก 35.59% ใช้แรงงานร่วมกับเครื่องจักรขนาดเล็ก มีเพียง 0.13% ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ขณะที่ 46.70% มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดส่งสินค้า รับคำสั่งซื้อ จัดหาวัตถุดิบ รับชำระเงิน เป็นต้น และ 53.30% ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ยับพบว่าธุรกิจชุมชนใช้วัตถุดิบและแรงงานในพื้นที่ 63.14% และ 87.60% ตามลำดับ จึงเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างมาก เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบ สร้างรายได้ และการออม เป็นต้น ส่วนสถานภาพเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่บอกว่า ใกล้เคียงเดิม เช่น ด้านยอดขาย กำไร จำนวนลูกค้า ฯลฯ ทั้งนี้ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เชื่อว่ายอดขายยังอยู่ในระดับเดิม ขณะที่ต้นทุนและกำไรจะดีขึ้น
สำหรับการจัดทำบัญชีชุมชน พบว่าส่วนใหญ่ทำไม่เป็นกิจจะลักษณะ คือ ทำแบบง่ายๆ แค่รายรับรายจ่ายและเงินเหลือแต่ละวัน โดยมีกลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีการทำบัญชีเป็นกิจจะลักษณะโดดเด่น คือ ร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ
จากผลสำรวจยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 79.32% ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่การเข้าถึงแหล่งทุน พบว่ามีราว 50.9% ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อ ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ พัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ พัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐาน วงเงินที่ต้องการส่วนใหญ่ราว 100,000-500,000 บาท
ส่วนการสำรวจดัชนีเศรษฐกิจชุมชน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีเศรษฐกิจชุมชน ด้านบวก เช่น การใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ราคาสินค้าเกษตรบางตัวปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยด้านลบ เช่น รายได้ของเกษตรกรลดลง เพราะผลผลิตปรับลดจากภัยแล้ง ขณะที่กำลังซื้อประชาชนชะลอตัว ราคาน้ำมันปรับขึ้น การส่งออกลดลงจากปัญหาสงครามการค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น
ส่วนสิ่งที่ต้องการได้รับจาก SME D Bank ในการพัฒนาธุรกิจชุมชน คือ ลดขั้นตอนหรือผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น ให้ความรู้ ทักษะการประกอบธุรกิจชุมชน ให้คำแนะนำด้านการเงิน พัฒนาศักยภาพธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมช่องทางตลาด
ด้านนายวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า ผลสำรวจบ่งบอกได้ดีว่า ธุรกิจชุมชนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานและวัตถุดิบในท้องถิ่น ทั้งนี้ หากธุรกิจชุมชนมีการยกระดับและเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาครัฐ จะช่วยให้เพิ่มมูลค่าและมีศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น ต่อยอดสู่กระจายการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว
ดังนั้น SME D Bank จึงมุ่งเน้นเติมความรู้คู่เงินทุน เช่น อบรมความรู้การทำบัญชีให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น จัดอบรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมปรับปรุงบ้านพักเป็นบูติกโฮเทลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เสริมแกร่งปรับปรุงโชห่วย ขยายช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Thailandpostmart.com ซึ่งเน้นนำสินค้าชุมชนมาขายผ่านออนไลน์ รวมถึง จัดงานแสดงสินค้าชุมชนเป็นประจำทุกเดือน ณ สำนักงานใหญ่ SME D Bank ในชื่อ “ตลาดสุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย” เพื่อเป็นช่องทางขายสินค้าให้แก่ธุรกิจชุมชน ซึ่งปีนี้จัดมาแล้ว 5 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 150 ราย สร้างรายได้กว่า 1.6 ล้านบาท เป็นต้น คาดว่าตลอดทั้งปีจะจัดได้อีก 3 ครั้งรวมเป็น 8 ครั้ง และมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบได้ครบ 600 รายตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
ทั้งนี้ SME D Bank มีงบสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับธุรกิจชุมชน โดยเฉพาะ เกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชน และโชห่วย ฯลฯ อีก 30,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นทุน สำหรับขยายและยกระดับธุรกิจ ผ่าน “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” คิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับธุรกิจชุมชนกับธุรกิจภายนอก เช่น ท่องเที่ยว ขนส่ง สินค้าที่ระลึก ฯลฯ อันจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกกว่า 145,500 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการฯสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายและสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน SME D Bank.