ชี้องค์การศุลฯโลกเร่งรับมืออีคอมเมิร์ช
“โฆษกกรมศุลฯ” เผยไทยพร้อมรับเงื่อนไข 3 แนวทางองค์การศุลกากรโลก เน้น “อำนวยความสะดวก-ป้องปราม-เพิ่มขีดความสามารถ” ระบุ ยามนี้ทุกฝ่ายเร่งรับมือกระแสธุรกิจ “อีคอมเมิร์ช” หลังเติบโตทั่วโลก ชี้ “ตึงก็ไม่ดี อ่อนก็ไม่ได้” หวั่นผู้บริโภคปลายทางถูกเอาเปรียบ
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า พันธกิจจากนี้ไปของกรมศุลกากร จำเป็นต้องมุ่งเน้นเดินไปตามกรอบความร่วมมือขององค์การศุลกากรโลก ที่มีข้อสรุปร่วมกันตามแผนยุทธศาสตร์ โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การป้องปราม/ปกป้องสังคม และการเพิ่มศักยภาพการทำงานของบุคลากร
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกทางการค้า องค์การศุลกากรโลกอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาว่าด้วยการทำพิธีการศุลกากรให้ง่ายและเป็นรูปแบบเดียวกัน (Revised Kyoto Convention) เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับธุรกรรมการค้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อนุสัญญาฯ นี้อาจถือได้ว่าเป็น “แม่บท” ของพิธีการศุลกากรที่ศุลกากรต่างๆ ยึดถือในการพัฒนาพิธีการศุลกากรในประเทศของตน
“สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลใจ คือ กรมศุลกากรประเทศต่างๆ จะรับมือกับการค้าอีคอมเมิร์ช ที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลกได้อย่างไร? หากเข้มข้นมากไป ก็อาจส่งผลกระทบกับการค้ารูปแบบใหม่ได้ แต่หากไม่มีมาตรการมารับมือและป้องกัน ก็อาจจะส่งผลเสียตามมา โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคในประเทศปลายทาง”
โฆษกกรมศุลกากรยอมรับว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว แต่มีข้อเสนอจากบางประเทศ ให้ทำการจัดเก็บภาษีเอาจาก “ตัวกลาง” หรือบริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ รวมถึงการจัดเก็บภาษีจาก “ต้นทาง” หรือบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ช ซึ่งทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งหมด ขึ้นกับว่าความร่วมมือของสมาชิกฯในระดับองค์การศุลกากรโลก จะมีความเข้มแข็งและเข้มข้นมากแค่ไหน? อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงจะมีการหารือกันอีกหลายครั้งว่าจะได้ข้อสรุป เพื่อให้สมาชิกได้นำไปเป็นกรอบในการดำเนินงานต่อไป
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันปราบปรามหรือการปกป้องสังคม องค์การศุลกากรโลกมุ่งเน้นที่ในเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานระหว่างศุลกากรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่และการประสานงานด้านข้อมูลให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัยมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของการจัดเก็บรายได้และการปกป้องสังคม
ส่วนยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับบุคลากรนั้น องค์การศุลกากรโลกมุ่งเน้นที่จะให้บุคลากรของหน่วยงานสมาชิกฯ มีความรู้ ความสามารถและมีทักษะในการทำงาน เพื่อให้บรรลุภารกิจขององค์กรและตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น.