กคช.จ่อชงครม.เร่งสางปัญหาบ้านเอื้ออาทร
การเคหะแห่งชาติ จัดทำแผนแก้ปัญหาบ้านเอื้ออาทรแบบเบ็ดเสร็จ เตรียมเสนอครม.ชุดใหม่ ปรับลดหน่วยผลิตจากกรอบของครม.ที่ 281,556 หน่วย เพื่อลดภาระผลขาดทุน คัดโครงการที่ขายยาก เสนอแพกเกจดึงนักลงทุนซื้อยกตึก จ่อขอคลังค้ำประกันออกบอนด์ 4,100 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยถึงการแก้ไขโครงการบ้านเอื้ออาทรว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่(ครม.) เพื่อแก้ไขปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรแบบเบ็ดเสร็จ โดยจะนำเสนอให้ปรับลดจำนวนหน่วยก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรให้เหลือ 280,699 หน่วย หน่วย จากเดิมที่ครม.อนุมัติไว้ 281,556 หน่วย ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้สามารถปิดการขายบ้านเอื้ออาทรได้หมด เนื่องจากที่ผ่านมา โครงการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบ้านเอื้ออาทร ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินที่มีผลขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2552จนปัจจุบัน
ทั้งนี้ แผนการแก้ปัญหาบ้านเอื้อฯนั้น จะแบ่งบ้านในโครงการออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ส่วนที่ขายยาก ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติครม.ให้ปรับลดราคาขายต่ำกว่า 390,000บาท เนื่องจากบ้านในกลุ่มที่ขายยากนี้ สร้างอยู่ในพื้นที่ที่มีกำลังซื้อ(ดีมานด์)ต่ำ หรือมีการสร้างรอดีมานด์ ซึ่งมีอยู่ 17 โครงการ โดยกคช.จะประเมินราคาโดยเทียบเคียงกับสถานการณ์ด้านการตลาดในแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดราคาขายที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม อาคารชุดบ้านเอื้ออาทรที่เหลือขาย ส่วนใหญ่เป็นอาคารชุดที่เกิดจากการยึดคืนหรือซื้อคืน มีทำเลและศักยภาพระดับกลางค่อนข้างต่ำ รวมถึงส่วนที่เป็นอาคาชุดที่สร้างเกินดีมานด์ ดังนั้น ในบางส่วนอาจต้องมีการขอมติครม.อนุมัติให้ขายแบบยกล็อต ลดราคาหน่วยขายลงเพื่อจูงใจผู้ซื้อ ทั้งนี้ แม้ว่าจะขายในราคาที่ถูกลง แต่เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะสภาพคล่องที่ได้เข้ามา สามารถนำไปพัฒนาโครงการใหม่ได้ ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า และ 2.บ้านที่ขายง่าย ในส่วนนี้จะทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อให้สามารถปิดการขายได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ กคช.ยังมีแผนจะเสนอขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี ที่เกิดจากการนำไปซื้อคืนหนี้จากสถาบันการเงิน และการแบกรับความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้จากผู้ซื้อเต็มจำนวนที่จ่ายจริง ตามที่ครม.มีมติอนุมัติไว้ในปี 2554 โดยปัจจุบัน กคช.ต้องรับซื้อคืนลูกหนี้ผิดชำระจากสถาบันการเงิน โดยใช้วงเงินเบิกเกินบัญชีที่มีอยู่ 2,240 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ซึ่ง ณ เดือน มี.ค.นี้ ใช้ไปแล้ว 2,110 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินรายได้ซื้อคืนสุทธิ 2,059 ล้านบาท และยังคงมีภาระจากการซื้อคืนลูกค้าในอนาคตจนกว่าจะหมดภาระการค้ำประกัน
ดังนี้ กคช.จึงมีแผนจะขอออกพันธบัตรเงินกู้รวม 4,100 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี โดยเสนอกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำไปชำระหนี้ส่วนที่ใช้ในการซื้อคืนหนี้บ้านเอื้ออาทร จำนวน 2,100 ล้านบาท และนำไปชดเชยสำรองเงินรายได้ของกคช. กรณีผู้ซื้อบ้านเอื้ออาทรขาดผ่อนชำระติดต่อกันเกิน 3 เดือนตั้งแต่ปี2550-2562.