ซื้อบ้าน-คอนโดฯต่ำกว่าล้านเฮ! ครม.อนุมัติลดค่าโอน-จดจำนอง ยาว1 ปี
ครม.อุ้มผู้มีรายได้น้อยในโครงการบ้านล้านหลัง อนุมัติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้านและคอนโดมิเนียม เหลือ 0.01 % วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มีผลสิ้นสุดถึง 31 พ.ค.ปี 63 ระบุช่วยผู้ซื้อและผู้ประกอบการในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและลดซัพพลายในตลาดที่ยังคงอยู่สูง
แหล่งข่าวจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังกับธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ระบุถึงมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ได้อนุม้ติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาถูกทาง เนื่องจากช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย ในภาวะที่สภาพเศรษฐกิจกำลังมีปัญหาอย่างมาก อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้กับโครงการบ้านล้านหลังของรัฐบาล ดำเนินการไปตามนโยบายที่วางไว้
ทั้งนี้ ในการประชุมครม.วานนี้ (7 พ.ค.) ได้มติอนุมัติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ สำหรับกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคารที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว โดยราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท
และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดจากเดิม 1% เหลือ 0.01% ของมูลค่าที่จำนอง สำหรับกรณีการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดในอาคารชุด ราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 พ.ค.63
ทั้งนี้ ครม.ให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.ตรวจพิจารณาเป็นการเร่งด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับความเห็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
พม.ระบุว่า มาตรการดังกล่าว มีวงเงินงบประมาณโครงการรวม 1,700 ล้านบาท จะสร้างประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลดีในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ประมาณ 58,340 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประมาณ 175,020 ราย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถช่วยลดอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เนื่องจากยังมีอุปทานคงเหลือในตลาดอยู่สูง ในณะที่ลูกค้ายังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และมีความสามารถรับภาระในการผ่อนค่างวดได้ในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้ อีกทั้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของรัฐ(โครงการบ้านล้านหลัง).