สรรพสามิตยืดเวลาขึ้นภาษีความหวานระยะ 3 อีก 6 เดือน

ครม. เห็นชอบขยายเวลาขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 เห็นชอบขยายเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึง 31 มี.ค. 2566 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด โดยมีการกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได ระยะที่ 1 ในวันที่ 16 ก.ย. 2560 ถึง 30 ก.ย. 2562 ระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 ถึง 30 ก.ย. 2564 ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 30 ก.ย. 2566 ต่อมาได้มีการขยายเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีระยะที่ 3 ออกไป 1 ปี จากวันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2565 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หากมีการปรับขึ้นภาษีตามกำหนดเวลาเดิม อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ประกอบการอาจดำเนินการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพสามิต จึงเสนอขยายเวลาการขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึง 31 มี.ค. 2566

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า “การดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความหวานตามปริมาณน้ำตาลตามที่กำหนดไว้นั้น นอกจากจะเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ ยังถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของ กรมสรรพสามิตที่มุ่งหวังจะเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสังคมและสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนและประเทศชาติสืบไป”