สงครามการค้ากดจีดีพีไทยวูบ
สศช.ปรับลดจีดีพีไทย2562 ลงเหลือ 3.6% หลังผ่านพ้นไตรมาสแรก เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่ไตรมาสแรก ปี2558 หลังสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน พ้นพิษเศรษฐกิจโลก
“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี2562 ขยายตัว 2.8% ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่ขยายตัว 3.6% เนื่องจากปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบด้านลบแก่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย” นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงข่าว เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2562 พร้อมกล่าวว่า
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงปรับลดอัตรการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงมาอยู่ ช่วงระหว่าง 3.3-3.8% โดยมีกลางอยู่ที่ 3.6% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่มีช่วงระหว่างอยู่ 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% ขณะที่ปี2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ระดับ 4.1% และปี2560 ขยายตัว 4.0%
“เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวได้เพียง 2.8% ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ชะลอจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งผลให้ สศช.ต้องปรับลดคาดการณ์จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลภายใน ประเทศ) ปีนี้ใหม่เหลือ 3.3-3.8% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.6%” เลขาธิสภาพัฒน์ กล่าว
นายทศพร กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของไทย ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ลดความเสี่ยง และการลดผลกระทบ และการหาตลาดส่งออกใหม่เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้พยายามดำเนินการอยู่แล้ว แต่ผลกระทบที่เกิด ขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่ สศช.คาดการณ์
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของไทย ยังมีเรื่องการเลือกตั้ง ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนและประชาชนอยากเห็นคือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพราะการมีที่รัฐบาลใหม่ล่าช้า จะส่งผลให้การเบิกงบประมาณล่าช้าและไม่ต้องกับเป้าหมายโดยงบประมาณปีนี้ (2562) จะเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าประมาณการ และงบลงทุนในปี2563 ที่จะเริ่มต้นเดือนต.ค.2562 เป็นเดือนแรกนั้น จะเบิกจ่ายได้ล่าช้าออกไป 2-3 เดือน
“สศช.เชื่อมั่นว่า เมื่อมีรัฐบาลแล้ว ความนิ่งทางการเมืองจะเกิดขึ้น รัฐบาลปริ่มน้ำหรือไม่ปริ่มน้ำ ก็เป็นเรื่องที่ไทยเคยผ่านมาแล้วหลายครั้ง และก็สามารถบริหารงานได้ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย และเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นปัจจัยลบคือ ยอดการส่งออก การท่องเที่ยว การเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนและปัญหาทางการเมือง เพราะปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ของไทย ยังดีอยู่ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง”
สำหรับข้อเสนอของ สศช.ที่จะแนะนำรัฐบาลคือ พยายามผลักดัน 3 เรื่องคือ 1.ด้านการส่งออก ต้องพยายามผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ด้วยการเร่งหาตลาดใหม่ 2.ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว โดยต้องพยายามรักษาฐานรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ ไม่ให้มีมูลค่าน้อยไปกว่า 2.21 ล้านล้านบาท จากเดิม 2.24 ล้านล้านบาท และ 3.การใช้จ่ายภาครัฐ ในส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องเป็นไปเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยต้องเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 65% จากเดิมจากเดิมคาดว่า จะเบิกจ่ายได้ 70% ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3.6%
ขณะที่ นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า น้ำหนักของการประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยประ มาณ 70% อยู่ที่การส่งออก ส่วนที่เหลืออีก 30% คือ การใช้จ่ายภายในประเทศ การลงทุนและรายได้จากการท่อง เที่ยวดัง นั้น เมื่อยอดการส่งออกชะลอตัวก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยมาก โดยมูลค่าการส่งออกปี2560 ขยายตัว 9.8% ปี2561 ขยายตัว 7.2% ขณะที่ ประมาณการเดิมเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าส่งออกจะขยายตัว 4.1% แต่ล่าสุด สศช.ต้องปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.2% เนื่องจากไตรมาสแรกปีนี้ ส่งออกของไทยติดลบไปแล้ว 3.6%
“สศช.ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 3.6% ขณะที่ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4% คงเป็น ไปไม่ได้แล้ว” รองเลขาธิการ สศช. กล่าวและกล่าวว่า
โอกาสที่ช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวได้ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก มีความเป็นได้มาก เนื่องจากเชื่อว่า การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะกลับมาเติบโตดีขึ้น ภายหลังจากมีรัฐบาลชใหม่ ขณะที่ การส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปริมาณสต๊อกสินค้าลดลง ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ หลายๆ ประเทศได้มีการสะสมสต๊อกเอาไว้จำนวนมาก ก่อนที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราภาษีกับจีน
“เศรษฐกิจโลกได้รับกระทบจากสงครามการค้ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก และคาดว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีมาตร การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะเพิ่มกำลังซื้อและการลงทุนของภาคเอกชน แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชด เชยการส่งออกคงไม่รุนแรง หรือใช้จ่ายเงินมากนัก เพราะยอดส่งออกที่ลดลงทุกๆ 1% มีมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท หากส่งออกลงไป 1% ต้องทำให้เป็นบวก 1% หมายความว่า ต้องทำจากที่ติดลบมาเป็นบวก ต้องใช้สูงถึง 160,000 ล้านบาท”
สำหรับข้อเสนอของ สศช.ต่อรัฐบาลคือ 1.การออกมาตรการลดผลกระทบระยะสั้นๆ และติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด และ2.รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้การส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัว เพราะหากทั้ง 2 รายการนี้ ชะลอตัวจะมีผลย้อนกลับไปสู่รายได้ครัวเรือน โดยไตรมาสแรกปีนี้ หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี มาอยู่ที่ 4.6% จากเดิมขยายตัวเฉลี่ยน 2.8% เนื่องจากประ ชาชนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่ง สศช.มองว่า เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากประชาชนมีรายได้และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้น จึงไม่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระ ทบจากเศรษฐกิจโลกมากนัก.