สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ก.ย. 65
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (107 มม.) จ.ชัยนาท (5) และจ.บึงกาฬ (63 มม.)
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แพร่ น่าน กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ อำนาจเจริญ บึงกาฬ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และยโสธร ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด และภาคตะวันตก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve)13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก ทับเสลา กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน คลองสียัด บางพระ และหนองปลาไหล
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 54,844 ลบ.ม. (67%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 47,906 ล้าน ลบ.ม. (67%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก ทับเสลา กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน บางพระ หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลาง ตามนโยบาย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังแนวโน้มสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น วานนี้ (15 ก.ย. 65) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ (สถานี C.2) 1,988 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.80 เมตร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,898 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน 16.76 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ในอัตราประมาณ 1,950 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.10 เมตร ทั้งนี้ กอนช. ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสานการณ์
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตามผลการเตรียมความพร้อมของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล เพื่อเตรียมการป้องกันการเกิดอุทกภัยท้ายน้ำกรณีน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ โดยที่ประชุมมีมติให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกระทบต่อชุมชนท้ายอ่างเก็บน้ำน้อยที่สุด รวมถึงให้วางแผนการระบายน้ำ และแผนรับมือหากเกิดสถานการณ์กรณีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินความจุ โดยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำทราบล่วงหน้า