ไทยพาณิชย์มองเศรษฐกิจไทยเปราะบาง-ไม่พ้นปากเหว
เศรษฐกิจไทยขณะนี้ กำลังเติบโตอย่างช้าๆ และยังคงมีความเปราะบาง แม้ว่า จีดีพีปีนี้ EIC จะปรับขึ้นเป็น 3% จากเดิมขยายตัว 2.9% ก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่เข้าเสริมคือ ภาคการท่องเที่ยว ปีนี้ คาดการณ์ว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 10 ล้านคน และปีหน้ายอดนักท่องเที่ยวจะแตะ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนเกิดโควิดที่มีจำนวน 40 ล้านคน
“ในปีนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% และปีหน้า จะขยายตัวได้ 3.7% ในปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง” นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ปีนี้
เศรษฐกิจไทยต้องนี้ ยังมีความเปราะบาง เหมือนกับท้องฟ้าที่ยังมืดมน โดยปีหน้าสภาพคล่องและปริมาณเงินหมุนเวียนจะดีขึ้น และจะค่อยๆ ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ คือเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า นายสมประวิณ กล่าวและกล่าวว่า
“ปัจจัยบวกของปีนี้ คือการท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มเร็วมาก อย่างไม่มีใครคาดคิดว่า ยอดนักลงเที่ยวจะทะลุ 1 ล้านคนต่อเดือนและปีหน้า หากรัฐบาลจีนเปิดให้นักเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ จะทำให้รายได้ของผู้ประกอบ การและรายย่อยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะยังไม่สามารถลดระดับอัตราเงินเฟ้อลงให้มาอยู่ในเป้าหมายที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดได้ โดยมองว่า เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายในปีหน้าอีกปี กดดันกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระทบต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการมากกว่า 200 รายที่ของกระทรวงพาณิชย์ปรับราคาสินค้าขึ้น ดังนั้น หากมองไปข้างหน้าแล้ว เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะประชาชนที่มีต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และภาคธุรกิจมีความเสี่ยงรายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย และธุรกิจขนาดเล็ก
ดังนั้น ในภาพรวม EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการมากขึ้น แทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุน แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทยอยลดลงไม่เร็วนักไปจนถึงสิ้นปี2566 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ลดลง ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ โดยจีดีพีจะยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อน COVID-19 จนกระทั่งไตรมาส 2 ปี 2566 และเศรษฐกิจไทยยังมี Output gap เป็นลบ และอาจต้องรอจนปลายปี 2567 ที่เศรษฐกิจจะกลับไประดับศักยภาพได้อีกครั้ง
“ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจนถึงปีหน้า โดย กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) สู่ระดับ 2% ณ สิ้นปีหน้า เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว ซึ่งเป็นการปรับขึ้น 6 ครั้งติดต่อกัน (นับรวมครั้งแรกปีนี้ กนง.ปรับขึ้นแล้วไป 0.25%)”
ส่วนปัจจัยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป ประกอบด้วย 1.ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันการส่งออกและลงทุนในระยะถัดไป 2.เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากมาตรการ Zero Covid และปัญหาในภาคอสังหาฯ ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง 3.เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากราคาโภคภัณฑ์ที่กระทบกาลังซื้อของครัวเรือน และต้นทุนในภาคธุรกิจ 4.ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน
ดังนั้น รัฐบาลยังคงมีความจำเป็นต้องดูแลประชาชนที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ แรงงานที่มีรายได้เกินกว่า 50,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้คนกลุ่มนี้ นำเงินออมออกมาใช้จ่ายให้มากขึ้น