สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ก.ย. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ลำปาง (118 มม.) จ.ปราจีนบุรี (86 มม.) และ จ.แพร่ (81 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 53,346 ล้าน ลบ.ม. (65%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,587 ล้าน ลบ.ม. (65%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา แม่มอก ทับเสลา อุบลรัตน์ ลำตะคอง มูลบน บางพระ หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด
กอนช. ประกาศฉบับที่ 37/2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ช่วงวันที่ 11 – 13 ก.ย. 65 ดังนี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าช่วงวันที่ 11 – 13 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 11 – 13 ก.ย. 65 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดังนี้
1.1 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา
1.3 ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
3. เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ อ่างฯแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างฯกิ่วคอหมาและแม่มอก จ.ลำปาง บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ อ่างฯทับเสลา จ.อุทัยธานีอ่างฯอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯลำตะคองและมูลบน จ.นครราชสีมา อ่างฯบางพระ จ.ชลบุรี และอ่างฯหนองปลาไหล จ.ระยอง
รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่องเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์