สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ก.ย. 65
ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ กรุงเทพมหานคร (178 มม.) จ.ปทุมธานี (149 มม.) และ จ.นราธิวาส (129 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 52,207 ล้าน ลบ.ม. (64%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,665 ล้าน ลบ.ม. (64%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แควน้อย บึงบอระเพ็ด อุบลรัตน์ ขุนด่าน บางพระ และหนองปลาไหล
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคกลาง จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ห่วงใยสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคใต้ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.กระบี่ สั่งวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.กระบี่
เพื่อตรวจราชการ และติดตามสถานการณ์น้ำโดยได้รับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) นำเสนอสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทาน นำเสนอแผนการดำเนินการโครงการระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ และ ส.ป.ก. นำเสนอแผนการดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ บ้านสองแพรก หมู่ที่ 9 บ้านหว่างคลองไทย ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ คณะได้ตรวจเยี่ยมโครงการระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ ส.ป.ก. จ.กระบี่ บ้านสองแพรก
รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการ จัดทำแผนเผชิญเหตุรับมือล่วงหน้า หากเกิดเหตุอุทกภัยขึ้น รวมถึงการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว โดยให้ สทนช. กรมชลประทาน และจังหวัดกระบี่ ดำเนินการตามแผนรับมือฤดูฝนทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบไว้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 ก.ย. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 35/2565 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จากการคาดการณ์จะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 3 – 8 ก.ย. 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,000 – 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีโดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 1 – 10 ก.ย. 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
2.1 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการแจ้งเตือนนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน กรณีที่อาจมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ที่พื้นที่อยู่ใกล้ทะเลและอยู่ใกล้กับชุมชน ที่อาจเกิดน้ำทะเลหนุนได้ในบางช่วง
2.2 กรมทรัพยากรน้ำ ตรวจสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำในแหล่งน้ำใช้ในการประเมินปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบัน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมพนักงานเก็บข้อมูลทางอุทกวิทยาเพื่อซักซ้อมและให้ความรู้ในการอ่านค่าระดับน้ำจากไม้วัดระดับน้ำ
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 7 – 9 ก.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาว ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
4. สถานการณ์น้ำท่วม
ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในวันที่ 4 – 6 ก.ย. 65 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พะเยา เพชรบูรณ์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และระยอง