พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทหมดเกลี้ยง
สศช.เผยเงินกู้ฯ 5 แสนล้าน เหลือ 3.7 หมื่นล้านบาท แต่มีหน่วยงานขอใช้งบประมาณครบทั้งจำนวนแล้ว ค่ารักษาโควิด 2.7 หมื่นล้าน และค่าเสี่ยงภัยหมอ พยาบาล 1 หมื่นล้าน เปิดช่องขอใช้งบกลางฯปี 66 หากไม่พอจ่าย “ดนุชา” พอใจยอดเบิกจ่ายเงินกู้ลงเศรษฐกิจได้ 70% ชี้รัฐบาลยังไม่ได้คุยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เน้นดูแลกลุ่มเปราะบางก่อน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯเพิ่มเติม พ.ศ. 2565 เปิดเผยว่าสถานะของเงินกู้ตามพ.ร.ก.ฯ 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องขอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติใช้เงินกู้ในส่วนนี้ภายในเดือน ก.ย.นี้
โดยปัจจุบันมีรายการที่รอขอใช้เงินกู้เต็มวงเงินแล้วแบ่งเป็นรายการเบิกค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ถึงเดือน มิ.ย.วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยให้กับแพทย์และพยาบาลในการรักษาโควิด-19 เป็นวงเงินรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองรายการนี้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯจะอนุมัติให้ตามคำขอและเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งนี้หากมีวงเงินการขอเบิกจ่ายที่เกินจากเงินกู้ที่เหลืออยู่จะเสนอของบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2566 ต่อไป
“ตอนนี้เท่ากับว่าเงินกู้ฯ ตาม พ.ร.ก.ที่เหลืออยู่นั้นหมดลงแล้ว ส่วนการเบิกจ่ายงบฯเงินกู้ที่ได้อนุมัติไปแล้วขณะนี้สามารถเบิกจ่ายไปได้ก้าวหน้าดีคือประมาณ 70% ของวงเงินที่อนุมัติไปแล้ว ส่วนการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือจะมีการเร่งรัดติดตามให้มีการเบิกจ่ายให้ได้ภายสิ้นเดือน ธ.ค.ปี 2565 นี้ รวมทั้งงบฯเงินกู้ที่ได้มีการอนุมัติให้ลงไปในโครงการระดับจังหวัดประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท ก็มีระบบการติดตามเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลางสำหรับการติดตามการเบิกจ่ายแล้ว”นายดนุชากล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้นั้นนายดนุชา กล่าว่าหน่วยงานที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจได้แก่ กระทรวงการคลัง สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องมาหารือกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยแนวทางคงไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจของประเทศยังสามารถที่จะเดินไปได้ แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับขึ้น รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
“ในช่วงนี้การดูแลเศรษฐกิจจะต้องให้น้ำหนักในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ และค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบบิล เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยลง ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เข้ามายังประเทศไทยให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจใน