สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ส.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.ตาก (83) จ.พัทลุง (73) และ จ.ระยอง (31)
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 51,614 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,040 ล้าน ลบ.ม. (63%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วลม ป่าสักฯ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ และบึงบระเพ็ด
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง ตามที่เขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเป็น 201 – 250 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งสองฝังแม่น้ำวัง ในพื้นที่ จ.ลำปาง และตาก
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 26 – 31 ส.ค. 65
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์
เขื่อนเเควน้อยบำรุงแดน ปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 200 ลบ.ม./วินาที เป็น 220 ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่ง กอนช. วางแผนเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล เตรียมรองรับฝนรอบใหม่ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง กรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ก.ย. 65 ร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและทำให้เกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับน้ำหลาก จึงขอให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วที่สุด พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที และในกรณีที่จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ให้กรมชลประทานดำเนินการแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูล แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกัน กรมชลประทานยังเร่งดำเนินการพร่องน้ำในคลองชลประทานต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากในช่วงตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 ส.ค. 2565 ดังนี้
1.ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 33/2565 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26 – 31 ส.ค. 25651 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย และเมืองมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย และร่องคำจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง ธวัชบุรี พนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี เสลภูมิ และอาจสามารถ จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์ และยางชุมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 27 ส.ค. – 28 ส.ค. 65 ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาตอนบน และลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. –2 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทําให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และที่ผ่านมาพบว่าหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 150 มม. และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลําน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 – 1,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ 24 – 30 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพรชบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม สระแก้ว กระบี่ และภูเก็ต
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมชลประทาน หารือและติดตามความก้าวหน้าโครงการต่างประเทศ ภายใต้คณะความร่วมมือ ไทย-ออสเตรเลีย (ด้านการเกษตร/การบริหารจัดการน้ำ/ภัยแล้ง) ได้แก่ โครงการประยุกต์ใช้แนวทาง Water Ordering และ โครงการจัดการคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีการหารือเตรียมการสำหรับการเดินทางของคณะ THAICID โดยอธิบดีกรมชลประทาน จะเข้าร่วมการประชุม ICID ณ เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย และคณะความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย จะประชุมความร่วมมือ ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกรมชลประทาน และเป็นโอกาสที่ดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้คณะทำงานร่วมกันระหว่างไทยและออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง