สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ส.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนเริ่มมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.บึงกาฬ (157) จ.เพชรบุรี (152) และ จ.นครนายก (116)
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 51,480 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,918 ล้าน ลบ.ม. (63%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วลม ป่าสักฯ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ และบึงบระเพ็ด
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง ตามที่เขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเป็น 201 – 250 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งสองฝังแม่น้ำวัง ในพื้นที่ จ.ลำปาง และตาก
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 26 – 31 ส.ค. 65
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุม กอนช.ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนในปีนี้ ที่มีปริมาณฝนมากและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ได้ และให้ดำเนินงานตามมาตรการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด
เห็นชอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเห็นผลเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ/เผชิญเหตุ และส่วนสนับสนุน
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือตามกรอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
กำชับให้มีแผนเผชิญเหตุเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที พร้อมทั้งให้ปรับอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานและภาคเอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ สามารถเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกันได้
กอนช. ได้รับรายงานอ่างเก็บน้ำลำตะโคง จ.บุรีรัมย์ ถูดน้ำกัดเซาะบริเวณรอยต่อทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้น เกิดการกัดเซาะดินยุบตัวบริเวณรอยต่ออาคารทางระบายน้ำล้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังนี้
กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณด่านท้ายน้ำแล้ว
เร่งระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำผ่านทางอาคาร Gate Spillway ในอัตรา 104 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งศักยภาพของลำน้ำด้านท้ายอ่างเก็บน้ำสามารถรองรับได้ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ปิดรอยกัดเซาะดังกล่าวด้วยกระสอบทราย (Big bag) และแผ่น Sheet pile
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 ส.ค. 2565 ดังนี้
1.ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 33/2565 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26 – 31 ส.ค. 25651 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย และเมืองมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย และร่องคำจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง ธวัชบุรี พนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี เสลภูมิ และอาจสามารถ จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์ และยางชุมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี
2.สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 27 ส.ค. – 28 ส.ค. 65 ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาและลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. –1 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น
3.สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทําให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และที่ผ่านมาพบว่าหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 150 มม. และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลําน้ำสาขา มีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 – 1,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ 24 – 30 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี นครนายก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
4.การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ (26 ส.ค.65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุม กอนช. ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนในปีนี้ ที่มีปริมาณฝนมากและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ได้ พร้อมทั้งได้สั่งการให้ดำเนินงานตามมาตรการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งที่ประชุม กอนช. เห็นชอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเห็นผลเป็นรูปธรรม