สรรพากรร่วม ส.แบงก์ จบดราม่า ดบ.ฝาก
จบ! ดราม่าภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% อธิบดีสรรพากรย้ำ หากไม่ประสงค์ส่งข้อมูลส่วนตัว แจ้งแบงก์ที่เปิดบัญชีเงินฝาก 7-14 พ.ค.นี้ ระบุ เตรียมแก้ประกาศอธิบดีฯสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลย้อนหลังประกาศเก่าฯ เมื่อ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ด้านประธานสมาคมธนาคารไทย เชื่อ แนวทางนี้เป็นประโยชน์ของผู้ฝากเงิน
แรงกดดันจากสังคมไทย ภายหลังกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ก่อนหน้านี้ โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมกันทุกบัญของทุกธนาคารพาณิชย์รวมกัน ที่บุคคลพึงมีเกิน 20,000 บาท ในอัตราร้อยละ 15
ล่าสุด นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร พร้อมด้วยนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และน.ส.พัดชา พงศ์กีรติยุต ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพกากร ร่วมกันแถลงเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว ณ กรมสรรพากร เมื่อช่วงสายวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา
อธิบดีกรมสรรพากร ย้ำว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการแก้ไขประกาศข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษี ต้องแจ้งแก่ธนาคารว่าไม่ประสงค์จะให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศฯดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา
“ธนาคารได้นำส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเป็นไปในรูปแบบของเอกสาร ที่ทำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งกว่าทำการเก็บรวบรวมและสรุปเป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อการดำเนินงานในขั้นต่อไปนั้น จะต้องใช้เวลานานและเสียค่าดำเนินการที่สูง ซึ่งระบบใหม่ธนาคารจะแจ้งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฝากฯเอง เพราะที่ผ่านมาผู้ฝากฯที่มีรายได้ดอกเบี้ยรับเกินกว่า 20,000 บาท อาจไม่ทราบว่าตัวเองได้รับสิทธิถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% และรายได้ที่ไม่ได้ถูกหัก มีการนำไปคิดคำนวณภาษีรวมกับรายได้อื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดอาจเสียภาษีแพงกว่า 15% เช่น 20% หรือ 25% มากสุดของอัตราก้าวหน้าสูงถึง 30% เลยทีเดียว” อธิบดีกรมสรรพากรย้ำ พร้อมระบุว่า
“ประชาชนที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% โดยประสงค์จะขอรับสิทธิประโยชน์นี้ ก็อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เป็นเรื่องที่ธนาคารจะดำเนินการจัดส่งข้อมูลเอง ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ การจัดส่งข้อมูลถือเป็นประโยชน์ของผู้ฝากฯเอง ทั้งนี้ ขอให้จบกันเสียที สำหรับดราม่าเรื่องดอกเบี้ยภาษี”
ด้านปรีดีกล่าวว่า การกำหนดให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากร จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.62 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป
“หากผู้ฝากฯไม่ประสงค์จะให้ธนาคารจัดส่งข้อมูลฯ ต้องแจ้งให้ธนาคารทุกแห่งที่เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้ รับได้ทราบ โดยแจ้งเพียงครั้งเดียว และจะมีผลตลอดไป จนกว่าจะมีความประสงค์ที่เปลี่ยนไป ก็สามารถมาแจ้งความจำนงใหม่ได้” ประธานสมาคมธนาคารไทย ย้ำ
อนึ่ง ผู้ที่ยังสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ.