สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ส.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.บุรีรัมย์ (121 มม.) จ.นครราชสีมา (112 มม.) และ จ.ปราจีนบุรี (82 มม.)
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 26 – 31 ส.ค. 65
เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 24–29 ส.ค. 65 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 1.90–2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณจ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคายอุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด
พื้นที่ประสบอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 15 – 24 ส.ค. 65ยังคงมีสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ จ.พิษณุโลก อุบลราชธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 51,154 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,603 ล้าน ลบ.ม. (62%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แควน้อย ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด
วานนี้ (24 ส.ค. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ในพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิต จ.ปทุมธานี และสถานีสูบน้ำบางขนาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา
ระยะนี้สถานการณ์ภาพรวมของประเทศจะมีแนวโน้มฝนตกลดลง แต่บางจุดยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ โดยประเมินสภาพฝน พบว่าฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 25 – 27 ส.ค. 65 และลดลงอีกครั้งในช่วงวันที่ 28-29 ส.ค. 65 ซึ่งจะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าแนวโน้มพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ทั้งนี้ กอนช. ได้สั่งการให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้ล่วงหน้า โดยต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน และมอบหมายให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีการระบายน้ำในอัตรา 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้มีการปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได จาก 15-25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จนถึงวันที่ 27 ส.ค. 65 เขื่อนป่าสักฯ ปรับการระบายเป็น 500 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยปัจจุบันลุ่มน้ำป่าสักตอนบนระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ซึ่งมวลน้ำหลากนี้จะไหลลงเขื่อนป่าสักฯ และบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างท้ายเขื่อนป่าสักฯ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง โดยปัจจุบันได้มีการเร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว