บัญชีกลางลบข้อครหา e-bidding
กรมบัญชีกลางติดปีก e-bidding พัฒนาระบบใหม่ e-GP Transformation for Thailand’s Future ปิดกั้นการเข้าไปดูข้อมูลระหว่างการประมูลเพื่อป้องข้อครหาว่า กรมบัญชีการทำข้อมูลรั่วไหลและยังเป็นต้นต่อของการฮั้วประมูล
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค.นี้ กรมบัญชีกลางจะเปิดให้บริการโครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูลงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น กรณีที่มีการประมูลงานผ่านการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding จากปัจจุบันที่มีข้อครหาว่า การประมูลงานผ่านระบบดังกล่าว มีการฮั้วประมูลงานระหว่างภาคเอกชน หรือมีการสมรู้ร่วมคิดในการประมูลงานเพื่อรับงานในราคาสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้ว่า กรมบัญชีกลางจะปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด และผลการตรวจสอบของบัญชีกลางเองก็ไม่พบการฮั้วประมูลก็ตาม
นางสาวกุลยา กล่าวว่าเพื่อให้การปฏิบัติงานของกรมบัญชีกลางเป็นไปด้วยความโปร่งใสจึงได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบดังกล่าว โดยระบบใหม่นี้ จะเป็นระบบปิดตลอดการประมูลจนกว่า การประมูลจะสิ้นสุดถึงจะเปิดระบบเข้าตรวจสอบผลการประมูลได้ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ
“กรมฯ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีการรั่วไหลของข้อมูลหรือไม่ เพียงแต่มีกระแสข่าวว่า e-bidding ฮั้วประมูลกันได้ แค่นี้ เราก็ไม่สบายใจแล้ว เพราะที่ผ่านมาการประมูลงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและท้องถิ่น มีการประมูลผ่านระบบดังกล่าว 640,000 ล้านบาท และในแต่ละปีสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ถึง 10%” อธิบดีกรมบัญชีกลาง
โครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ SMEs ที่เป็นผู้ค้าภาครัฐกว่า 300,000 ราย ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคธนาคารมากขึ้น โดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมของระบบ e-GP ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเป็นคู่สัญญาของผู้ประกอบการที่ได้รับงานภาครัฐ เข้าสู่ระบบมาตรฐานกลาง อย่าง Smart Financial and Payment Infrastructure (“SFPI”) หรือที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า “PromptBiz” ที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำธุรกรรม
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ระบบการทำงานของ e-GP Transformation for Thailand’s Future จะไม่มีอุปสรรคหรือล่มอย่างแน่นอน เพราะระบบดังกล่าว มีการสำรองข้อมูลและระบบไฟฟ้า เพื่อให้ข้อมูลไม่ติดขัดหรือสะดุด ซึ่งจะทำการประมูลไหลรื่นไปจนกว่าการประมูลจะเสร็จสิ้น นอกจากนี้ ยังสามารถประมวลผลการประมูลออกมาได้อีกด้วย จึงไม่มีอะไรที่เสียหาย ส่วนปัญหาความขัดแย้ง หรือการร้องอุทธรณ์ของผู้ประมูลเป็นเรื่องที่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่เกี่ยวไม่เกี่ยวกับธนาคารกรุงไทย