ส.อสังหาฯ วอนรัฐแก้ปมแบงก์เข้มปล่อยกู้หนุนมาตรการรัฐ
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/06/616affea5a92b7f2ac14140b9666f78d_XL.jpg)
นายกสมาคมอสังหาฯ มองเป็นเรื่องดี ที่รัฐออกมาตรการซื้อบ้านลดหย่อนภาษีหักได้ไม่เกิน 2 แสนบาท พอเป็นแรงกระตุ้นอสังหาฯ แต่ชี้ปัญหาต้นเหตุหลัก คือ แบงก์ยังเข้มปล่อยกู้ ซ้ำร้ายมีมาตรการ LTV ตัดกำลังซื้อประชาชน แถมผู้กู้ร่วมขยาดหวั่นติดร่างแหทำธุรกรรมอื่นไม่ได้ “แคปปิตอล วัน” หวังแบงก์รัฐปล่อยกู้เสริม
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ได้ออกมาล่าสุด สำหรับประชาชนที่ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 แสนบาท ถือว่าช่วยสนับสนุนผู้ซื้อบ้านได้อีกช่องทางหนึ่ง แต่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะการหักลดหย่อนภาษี ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆของการซื้อบ้าน แต่ที่สำคัญ คือ สินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว ประกอบกับมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ LTV ซึ่งตลอดเดือนเม.ย.ที่บังคับใช้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวจากมาตรการ LTV แต่เชื่อว่าการชะลอตัวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะตลาดและเศรษฐกิจไม่เหมาะสมที่จะออกมาตรการใดๆมาควบคุม แต่ควรเป็นมาตรการกระตุ้นมากกว่า
“ ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 2 ซื้อบ้านได้ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 1 แสนก็ถือว่าเป็นเรื่องดีของภาคอสังหาฯ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะหากแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่สามารถซื้อบ้านได้ นอกจากนี้ การนับรวมผู้กู้ร่วมให้เป็นสัญญาที่ 1จะทำให้ไม่มีใครอยากกู้ร่วมด้วย เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการซื้อบ้านของตนเอง” นายวสันต์ กล่าว
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท แวลู บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการทางการคลังหรือมาตรการภาษีที่รัฐบาลออกมา จะกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ซื้อได้ดี ส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดแนวราบ ในส่วนของภาพคอนโดมิเนียม ผู้ซื้อเพื่อการลงทุนเพื่อหวังผลจากปล่อยเช่า จะตัดสินใจเร็วขึ้น เพราะสามารถนำค่าใช้จ่ายค่าภาษีที่ลดลงอย่างมาก นำมาหักลดหย่อนเรื่องผลกระทบจากมาตรการเพิ่มเงินดาวน์ของธปท.
นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แคปปิตอล วัน เรียลเอสเตท จำกัด กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยระดับ 1-5 ล้านบาท เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์และเป็นฐานใหญ่ที่ลูกค้ามีความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนเป็นกังวล คือ ความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากพบว่า ไปยึดมั่นในข้อมูลเครดิตบูโรมากเกินไป เช่น ลูกค้าเคยเป็นหนี้ค้างชำระ 2 เดือน ก็ไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อ ต่างกับธนาคารของรัฐ ที่ยังอนุมัติสินเชื่ออยู่
“เรื่องแบงก์เข้มปล่อยกู้ เป็นอะไรที่ช่วยไม่ได้ เราแก้ระบบไม่ได้ แต่หากแบงก์รัฐเข้ามาเสริม จะช่วยผู้ซื้อบ้านได้มากขึ้น”.