บสย. กดปุ่มมาตรการใหม่ ช่วย 2 เด้ง ชุบชีวิต SMEs แก้หนี้ยั่งยืนประกอบธุรกิจ SMEs
ต่ออายุค้ำ 10 ปี “ต่อพร้อมเติม” ค้ำเพิ่ม…เติมสภาพคล่อง วงเงิน 6,000 ล้านบาท
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเดิมของ บสย. ให้มีความต่อเนื่องและเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล แก้หนี้ยั่งยืน ประคองกิจการผู้ประกอบการและพร้อมไปต่อ โดยผู้ประกอบการยังได้รับการสนับสนุนทางการเงิน และการค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่อง ล่าสุด บสย. ได้ออกมาตรการต่ออายุค้ำประกันสินเชื่อ Renew รอบ 2 เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเดิม สำหรับหนังสือค้ำประกันสินเชื่อที่ครบอายุการค้ำประกันตั้งแต่ปี 2565-2567 แต่อาจติดขัดและยังชำระหนี้ไม่หมด โดยช่วยผู้ประกอบการถึง 2 ต่อ ดังนี้
ต่อที่ 1 “บสย. พร้อมช่วย” ต่ออายุค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดถึง 10 ปี สำหรับหนังสือค้ำประกันที่ครบอายุการค้ำประกันตั้งแต่ปี 2565-2567 เปิดรับคำขอตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ผู้ที่มีหนังสือค้ำประกันที่ครบกำหนดตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 สามารถยื่นคำขอย้อนหลังได้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565
ต่อที่ 2 ในระยะถัดไป “ต่อพร้อมเติม” ค้ำเพิ่ม เติมสภาพคล่อง โดย บสย. ช่วย “ค้ำประกัน” สินเชื่อเพิ่มเติม วงเงินรวมสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน เพื่อเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ บสย. กำหนด
ตลอดระยะเวลา 30 ปี บสย. เป็นเครื่องมือของรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มรายย่อย ฐานราก Start up ที่ต้องการเงินทุนแต่ขาดหลักประกัน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อีกทั้งยังช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยออกมาตรการยืดระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ จาก 5 ปี เป็น 10 ปี
ทั้งนี้ ก่อนการประกาศมาตรการ บสย. “พร้อมช่วย” ต่ออายุค้ำประกันสินเชื่อ และ“ต่อพร้อมเติม” ค้ำเพิ่ม เติมสภาพคล่อง บสย. พบว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการค้ำประกัน ต้องการให้ บสย. ช่วยค้ำประกันสินเชื่อต่อไป เพื่อช่วยประคองกิจการ เนื่องจากได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
บสย. มั่นใจว่ามาตรการต่ออายุค้ำประกันสินเชื่อ จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังจะครบกำหนดระยะเวลาการค้ำประกันในปี 2565 -2567 คิดเป็นวงเงินค้ำประกันกว่า10,000 ล้านบาท ก้าวข้ามผ่านวิกฤต ช่วยพยุงธุรกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งช่วยผู้ประกอบการ SMEs แก้หนี้ยั่งยืน