รัฐบาลโชว์เก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติบริการในไทยพุ่ง 6 ล้านบาท
จัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 ได้ เกือบ 6 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ทั้งปี สรรพากรวางระบบเพิ่มประสิทธิภาพติดตามจัดเก็บภาษี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีติดตามผลการจัดเก็บภาษีจากการค้าดิจิทัลของผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ เริ่มจัดเก็บเมื่อ 1 ต.ค. 2564 ซึ่งกรมสรรพากรรายงานว่า จากที่ได้มีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี ให้ผู้ประกอบการและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มในต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เปิดให้จดทะเบียนผ่านระบบ VAT for Electronic Service (VES) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ปัจจุบันมีมาจดทะเบียนแล้ว 138 ราย มีมูลค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์รวม 85,015 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มสะสม 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64 – ก.ค. 65) จำนวน 5,951 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ของทั้งปีงบประมาณ 2565 ที่ 5,000 ล้านบาท
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีการขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) กรมสรรพากรมีหน่วยงานที่ติดตามการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี ซึ่งรวมตั้งแต่การขายสินค้าทางออนไลน์ต่างๆ ไปจนถึง Youtuber, Blogger Content Creator และธุรกิจอื่น ๆ โดยได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจผู้ประกอบการหรือผู้มีเงินได้ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Data Analytics การทำ Web Scraping การทำ Text Mining เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการทำ data analytics จะบ่งชี้ผู้เสียภาษีให้เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำและการออกหนังสือเตือน (Notification Letter) เพื่อให้ผู้อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ที่ผ่านมาได้ช่วยให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่า 800 ล้านบาท รวมทั้งกรมฯ ยังมีการเปิดระบบแจ้งเบาะแสหลีกเลี่ยงภาษีผ่าน Website on Mobile ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสำรวจแหล่งภาษี ซึ่งช่วยให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 200 ล้านบาท
นางสาวรัชดา กล่าวถึงการทำงานในระยะต่อไปของกรมสรรพากรว่า จะมีการจัดตั้งกลุ่มงานเฉพาะกิจ (Task Force) ขึ้นมาดูแลเรื่อง e-Commerce และธุรกิจออนไลน์เป็นการเฉพาะ โดยจะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ก้าวหน้าร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการค้นหาผู้อยู่นอกระบบและวิเคราะห์รายได้เพื่อให้เสียภาษีตามข้อเท็จจริงของการประกอบการ นอกจากนั้น จะมีการปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของ e-Commerce ให้สอดคล้องกับลักษณะของการประกอบการด้วย โดยอยู่ระหว่างดำเนินการให้ผู้ประกอบการสามารถใช้คอนโดมิเนียมเป็นสถานประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการปรับตัวการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสมัยใหม่ในยุคดิจิทัล โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความแน่นอน และประสิทธิภาพในการบริหาร เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ให้ประเทศ ซึ่งผลการจัดเก็บภาษีการค้าดิจิทัลในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เป็นที่น่าพอใจ อยู่สูงกว่าเป้าหมายทั้งปี ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลจะได้นำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว