สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 ส.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สระแก้ว (71 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (59 มม.) และ จ.เลย (48 มม.)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง ตราด ระนอง และพังงา + แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 49,750 ล้าน ลบ.ม. (61%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 43,338 ล้าน ลบ.ม. (61%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แควน้อย บึงบระเพ็ด ป่าสักชลสิทธิ์ น้ำพุง อุบลรัตน์ และบางพระ
ตามประกาศ กอนช. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในช่วงวันที่ 20 – 24 ส.ค. 65 หน่วยงานได้ดำเนินการ ดังนี้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และแจ้งจังหวัดให้ติดตามสถานการณ์และให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าโดยให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจเกิดอุทกภัยได้ สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่เสี่ยงจะเกิดภัยให้แจ้งเตือนปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่เด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานผลการดำเนินการแจ้งเตือนภัยของจังหวัด
กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยให้โครงการชลประทานในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2565 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20 – 22 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโก-ลก และเฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน บึงบอระเพ็ด ป่าสักชลสิทธิ์ น้ำพุง อุบลรัตน์ บางพระ และหนองปลาไหล รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
2. สถานการณ์อุทกภัย
จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทําให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ในระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. 2565 เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 17 จ. ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 9 จ. (จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ) ดังนี้
จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นครไทย และ อ.วังทอง คาดว่า 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สากเหล็ก และ อ.วังทรายพูน คาดว่า 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีน้ำท่วมขังนาข้าวสูงประมาณ 0.2-0.3 ม.บริเวณ อ.พนมสารคาม ปัจจุบันระดับน้ำในคลองระบายน้ำยังทรงตัว หากไม่มีปริมาณฝนตกหนักเพิ่มเติม คาดว่าระดับน้ำจะเริ่มลดระดับลง
จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และอ.บางปลาม้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7-14 วัน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง มีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำรวม 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ) และ จังหวัดอ่างทอง (อ.ป่าโมก) ปัจจุบันกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 1,224 ลบ.ม/วินาที
จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ชนบท อ.บ้านแฮด อ.บ้านไผ่ และอ.ชุมแพ คาดว่าสถานการณ์ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่น้ำน้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูเขียว คาดว่าสถานการณ์ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 วัน จังหวัดอุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ อ.น้ำยืน และ อ.นาจะหลวย ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นลำห้วย และไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร 2 ฝั่งลำน้ำ ปัจจุบันสถานีวัดน้ำ M.170 บ้านคำสำราญ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลง