เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและท่องเที่ยว
เศรษฐกิจไทย Q2/22 ขยายตัวต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันที่ 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองยังสามารถขยายตัว 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ sa) โดยเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเปิดรับนักท่องเที่ยว ขณะที่หากพิจารณาในฝั่งการผลิต (Production approach) พบว่ามีการฟื้นตัวได้ดีในหลายภาคเศรษฐกิจ นำโดยภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องกับภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามปริมาณผลผลิต อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวจากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัว ประกอบกับการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจากที่เคยขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาแนวโน้มปริมาณการส่งออกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวในบางตลาดสำคัญ เช่น จีน และสหรัฐฯ รวมถึงความกังวลต่อต้นทุนที่ยังผันผวน
เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปจะฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นปัจจัยหลัก
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี EIC คาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัว จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาดตามการทยอยลดมาตรการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศ รวมถึงไทย โดย EIC คาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2022 อาจเพิ่มขึ้นแตะ 10 ล้านคน (จากเดิม 7.4 ล้านคน) จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) สะท้อนจากสล็อตตารางการบินในช่วงฤดูหนาวปี 2022 (ต.ค. 2022-มี.ค. 2023) ของสนามบินนานาชาติหลักของไทยที่มีการจองล่วงหน้าสูง ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคเอกชนในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะยิ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องในปี 2023 จากนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มกลับมาเดินทางระหว่างประเทศ โดยคาดว่ารัฐบาลจีนจะเริ่มทยอยผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ในช่วงปลายปี 2022 และปลดล็อกการเดินทางในปี 2023
ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ถึงแม้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ในระยะถัดไปความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นสร้างแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการดำเนินมาตรการการเงินตึงตัว เศรษฐกิจยุโรปที่เผชิญความเสี่ยงจากด้านอุปทานพลังงานจากรัสเซีย รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีความเปราะบางในหลายภาคส่วน อีกทั้ง เงินเฟ้อและราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูงทั่วโลก นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะท่าทีที่แข็งกร้าวระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในกรณีไต้หวัน ซึ่งจะเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ระหว่างทั้งสองประเทศให้เกิดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในด้านปริมาณ สะท้อนจากข้อมูลส่งออกสุทธิที่เคยเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสก่อนกลายมาเป็นปัจจัยฉุดต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสล่าสุด ส่งผลทำให้การลงทุนภาคเอกชนในระยะถัดไปมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นเดียวกัน ด้านความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการพยุงเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็นอยู่แต่แรงส่งจะมีน้อยลง เนื่องจาก EIC ประเมินว่าเหลือเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะสามารถใช้ทำโครงการใหม่ได้เพียงราว 2.7 หมื่นล้านบาท และจะสิ้นอายุลงในเดือน ก.ย. 2022
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2022 ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หรือคิดเป็น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ sa) ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.3%YOY
ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงการฟื้นตัว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ (ท่องเที่ยว) ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญในไตรมาสนี้
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้มากถึง 6.9% เร่งตัวสูงที่สุดในรอบ 38 ไตรมาส จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา โดยภาคบริการที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ตลาดแรงงานที่เริ่มฟื้นตัว รายได้เกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม มีแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ในไตรมาสนี้การบริโภคภาคเอกชนในหมวดบริการสุทธิและหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หมวดสินค้าคงทนและหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวในอัตราชะลอลง
การลงทุนภาครัฐหดตัว -9% รุนแรงที่สุดในรอบ 9 ไตรมาส โดยหดตัวทั้งการลงทุนของรัฐบาลหดตัวที่ -15.1% ในขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 2.9% โดยในไตรมาสนี้การลงทุนภาครัฐหดตัวทั้งในด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือที่ -6.6% และ -17% ตามลำดับ
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.3% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.9% โดยการลงทุนในด้านเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัว 3.3% โดยขยายตัวดีในหมวดยานพาหนะ แต่ในภาพรวมชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.4% จากต้นทุนการผลิตและต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ในขณะที่ด้านการก่อสร้างยังหดตัว -1.3% แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัว -8% ในไตรมาสก่อนหน้า
การบริโภคภาครัฐขยายตัว 6.8% ชะลอตัวที่สุดในรอบ 3 ไตรมาส โดยค่าตอบแทนแรงงานและรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการพลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.3% และ 0.1% จากที่หดตัว -1.5% และ -0.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัว 17% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 87.6%
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงขยายตัว 4.6% ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 แต่ก็เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส และลดลงจาก 10.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในเดือนนี้สามารถขยายตัวได้ทั้งสินค้าเกษตรจากความต้องการในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงรวมถึงมาตรการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดในหลายประเทศ และภาคอุตสาหกรรมจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดในหลายประเทศ รวมถึงได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนอุปทาน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการส่งออกและผลิตรถยนต์
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการส่งออกที่ 7.1% โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขยายตัวสอดคล้องกับความต้องการผลิตเพื่อส่งออก นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุนยังขยายตัวจากด้านเครื่องจักรเครื่องมือในกลุ่มขนส่ง
การส่งออกภาคบริการขยายตัว 54.3% โดยได้รับอานิสงส์หลักจากรายรับด้านการท่องเที่ยวและค่าโดยสารที่ฟื้นตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการเปิดประเทศ ในขณะที่การนำเข้าบริการขยายตัว 16.8% จากปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการเปิดประเทศ
สินค้าคงเหลือมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 173,379 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว ในขณะที่หมวดสินค้าเกษตรมีการสะสมสินค้าคงคลังลดลง
ด้านการผลิต (Production approach) เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคบริการ นำโดยหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว
ภาคการเกษตรขยายตัว 4.4% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 4.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของผลผลิตในข้าวเปลือก อ้อย ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ เป็นต้น หมวดประมงขยายตัวได้ ในขณะที่ปศุสัตว์หดตัว
ภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัว -1.8% จากการขยายตัว 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมหดตัว -0.5% จากคำสั่งซื้อต่างประเทศ สาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหินหดตัว -22.4% ต่อเนื่องจาก -18.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยลดลงในการผลิตหลักทุกรายการ
ภาคบริการขยายตัว 4.6% เร่งตัวขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า จากอานิสงส์ของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค การใช้มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยสาขาที่พักแรมและอาหารขยายตัวได้ถึง 44.9% ตามด้วยสาขาข่าวสารและการสื่อสารที่ขยายตัว 6.2% และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่ขยายตัว 5.3% อย่างไรก็ตาม สาขาการก่อสร้างหดตัว -4.5% ทั้งจากการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2022 ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันที่ 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองยังสามารถขยายตัว 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า (ลดลงจากการขยายตัว 1.1% ในไตรมาสแรกเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ sa) โดยเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเปิดรับนักท่องเที่ยว หากพิจารณาในฝั่งการผลิต (Production approach) พบว่ามีการฟื้นตัวได้ดีในหลายภาคเศรษฐกิจ นำโดยภาคบริการซึ่งสอดคล้องกับภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามปริมาณผลผลิต อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวจากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัว ประกอบกับการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจากที่เคยขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาแนวโน้มปริมาณการส่งออกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวในบางตลาดสำคัญเช่น จีน และยุโรป รวมถึงความกังวลต่อต้นทุนที่ยังผันผวน
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นำโดยภาคการท่องเที่ยว โดย EIC คาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2022 อาจเพิ่มขึ้นแตะ 10 ล้านคน (จากเดิม 7.4 ล้านคน) จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การทยอยลดมาตรการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศ รวมถึงไทย สะท้อนจากสล็อตตารางการบินในช่วงฤดูหนาวปี 2022 (ต.ค. 2022-มี.ค. 2023) ของสนามบินนานาชาติหลักของไทยมีการจองล่วงหน้าจนเกือบเต็มแล้ว ส่งผลให้ภาคบริการในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาคการเกษตรยังจะได้รับอานิสงส์จากทั้งปัจจัยทางด้านปริมาณจากน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่ดีรวมถึงมาตรการสนับสนุนของรัฐ และด้านราคาจากความต้องการในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง (ยกเว้นข้าว) ซึ่งเมื่อประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) ที่มีอยู่จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนแม้จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในด้านปริมาณ สะท้อนจากแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกจากด้านปริมาณที่ชะลอตัว ทำให้การลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นเดียวกัน ด้านความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการพยุงเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็นอยู่แต่แรงส่งจะมีน้อยลง เนื่องจาก EIC ประเมินว่าเหลือเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะสามารถใช้ทำโครงการใหม่ได้เพียงราว 2.7 หมื่นล้านบาท และจะสิ้นอายุลงในเดือนกันยายน 2022
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยภายนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในปี 2023 ได้แก่ (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) ในไตรมาสสอง เศรษฐกิจยุโรปเผชิญความเสี่ยงด้านอุปทานพลังงานจากรัสเซีย ภาวะเงินเฟ้อ และการใช้มาตรการทางการเงินที่ตึงตัว เศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีความเปราะบางในหลายภาคส่วน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว เมียนมา ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย (2) ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะท่าทีที่แข็งกร้าวระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในกรณีไต้หวัน ซึ่งจะเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ระหว่างทั้งสองประเทศให้เกิดเร็วขึ้น (3) ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง (4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้างโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ (5) ประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในต้นปี 2023 รวมไปถึงเสถียรภาพและภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ ที่จะถูกนำมาใช้ภายหลังการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายน
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/gdp-15082022
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
นายวิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักวิเคราะห์