สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ส.ค. 65

ฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.สุราษฎร์ธานี (76) จ.อุบลราชธานี (63) และ จ.กาญจนบุรี (49)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 48,678 ล้าน ลบ.ม. (59%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 42,374 ล้าน ลบ.ม. (59%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักฯ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0 – 2.0 ม. อย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14 – 18 ส.ค. 65
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก – ดินถล่ม บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ระยอง และตราด
สทนช. ติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
วานนี้ (14 ส.ค. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี เนื่องจากปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำ 442 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของความจุอ่างฯ ซึ่งเขื่อนมีแผนการระบายน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 16-20 ส.ค. 65
สทนช.ได้เน้นย้ำในช่วงที่มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำตั้งแต่ 15 ส.ค.นี้ จนกระทั่งปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ภายในวันที่ 25 ส.ค. 65 โดยให้มีการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำป่าสักในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด รวมถึงวางระบบการแจ้งเตือนให้พื้นที่เสี่ยงให้รับทราบล่วงหน้าและทั่วถึงโดยใช้เกณฑ์การระบายน้ำต่ำสุดที่ 500 ลบ.ม./วินาทีที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่เสี่ยงในปี 64 รวมทั้งสิ้น 15 จุดมาเป็นเกณฑ์การแจ้งเตือนประชาชนในการขนย้ายสิ่งของล่วงหน้า อาทิ ตลาดน้ำต้นตาล ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นจุดที่มีการรุกล้ำลำน้ำ ตลาดน้ำพระยาทด ต.พระยาทด อ.เสาไห้ จ.สระบุรี บ้านหนองกรด ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นต้น ขณะเดียวกัน อัตราการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะต้องพิจารณาถึงปริมาณน้ำที่จะมีการระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาร่วมด้วย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 15 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 28/2565 ลงวันที่ 13 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าในช่วงวันที่ 11 – 12 ส.ค. 2565 มีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณเหนือพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ในช่วง 13– 14 ส.ค. 2565 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ในอัตราประมาณ 9,000 – 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0 – 2.0 เมตร อย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14 – 18 ส.ค. 2565
2. สถานการณ์อุทกภัย
สถานการณ์จาก พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน บริเวณเมืองลางซอนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบนทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11 – 14 ส.ค. 65 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 27 จ. (เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม เลย ระนอง และภูเก็ต) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 8 จ. (เชียงราย น่าน พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี) โดยรายละเอียดดังนี้
จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 666 หลังปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดน่าน มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูเพียง อ.เวียงสา และ อ.ท่าวังผา ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เนินมะปราง และ อ.นครไทย สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว
จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่น้ำท่วม อ.สากเหล็ก ทำให้น้ำเอ่อล้นลำคลองและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนราษฎร คาดว่า 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่นํ้าท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มสัก โดยที่สถานี S.3 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระดับน้ำ7.62 ม.รทก.ต่ำกว่าตลิ่ง -0.68 ม.รทก. ปริมาณน้ำ 61.38 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง
จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และอ.บางปลาม้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดการณ์ว่าไม่เกิน 7 – 14 วัน สถานการณ์จะคลี่คลาย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ และบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำน้อยนอกเขตคันกั้นน้ำ รวม 6 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา และ อ.ผักไห่) จ.อ่างทอง (อ.ป่าโมก และอ.วิเศษชัยชาญ) มีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำรวม 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางประหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ) และ จังหวัดอ่างทอง (อ.ป่าโมก) ปัจจุบัน กรมชลประทานได้เพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตามปริมาณน้ำเหนือที่เพิ่มขึ้นปัจจุบัน (18.00 น.) เขื่อนเจ้าพระยาระบาย 1,342 ลบ.ม/วินาที