สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ส.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สงขลา (92 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (90 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (80 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 48,327 ล้าน ลบ.ม. (59%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 42,051 ล้าน ลบ.ม. (59%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด
กอนช. ประกาศฉบับที่ 28/2565 เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ในช่วงวันที่ 14 –18 ส.ค. 65
ตามที่ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าในช่วงวันที่ 11 – 12 ส.ค. 65 มีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณเหนือพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว คาดการณ์ในช่วง 13 – 14 ส.ค. 65 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ในอัตราประมาณ 9,000 – 10,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรี มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0 – 2.0 ม. อย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14 – 18 ส.ค. 65 และขอให้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง
กอนช. ติดตาม หน่วยงานเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ดังนี้
กรมกรมชลประทาน ได้นำเครื่องจักรกลดำเนินการขุดลอกเสริมคันดินบริเวณคลองสาน ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเสริมคันดินให้สูงขึ้นและเสริมความแข็งแรงของแนวคันดิน เตรียมพร้อมรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และป้องกันน้ำเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยวพร้อมซ่อมแซมคันดินบางจุดที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมขังบางส่วน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 28/2565 ลงวันที่ 13 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าในช่วงวันที่ 11 – 12 ส.ค. 2565 มีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณเหนือพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ในช่วง 13– 14 ส.ค. 2565 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ในอัตราประมาณ 9,000 – 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0 – 2.0 เมตร อย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14 – 18 ส.ค. 2565
2. สถานการณ์อุทกภัย
สถานการณ์จาก พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ได้อ่อนกําลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน บริเวณเมืองลางซอน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและอ่อนกําลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรง ประกอบกับมีร่องมรสุม พาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบนทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11 – 13 ส.ค. 65 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง โดยรายละเอียดดังนี้
จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า สถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่น้ำท่วม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น อ.เมืองฯ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่จัน อ.เทิง และ อ.แม่สาย ปัจจุบันระดับน้ำจะลดตามลำดับและกลับสู่ภาวะสถานการณ์ปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ฝาง อ.แม่อาย อ.เวียงแหง และ อ.สะเมิง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดพะเยา มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูซาง และ อ.แม่ใจ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดน่าน มีพื้นที่น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ่อเกลือ อ.ทุ่งช้าง อ.เมือง และ อ.ท่าวังผา ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่น้ำท่วม อ.นครไทย สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว
จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่น้ำท่วม อ.สากเหล็ก ทำให้น้ำเอ่อล้นลำคลองและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนราษฎร คาดว่า 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่นํ้าท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มสัก โดยที่สถานี S.3 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระดับน้ำ7.62 ม.รทก.ต่ำกว่าตลิ่ง -0.68 ม.รทก. ปริมาณน้ำ 61.38 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง
จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และอ.บางปลาม้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดการณ์ว่าไม่เกิน 7 – 14 วัน สถานการณ์จะคลี่คลาย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทองมีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำรวม 6 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ) และ จ.อ่างทอง (อ.ป่าโมก) ปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ลดลงการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัว (เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,200 ลบ.ม/วินาที)