สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ส.ค. 65
ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.เชียงราย (176 มม.) จ.นครพนม (126 มม.) และ จ.ตราด (117 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 47,719 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 41,485 ล้าน ลบ.ม. (58%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ฉบับที่ 27/2565 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 13 – 18 ส.ค. 65
สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย ในช่วงวันที่ 13–14 ส.ค. 65 ประมาณ 0.80 – 1.20 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
ตั้งแต่สถานีเชียงคาน จ.เลย จนถึงสถานีนครพนม จ.นครพนม คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 13 – 17 ส.ค. 65 ประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
ตั้งแต่สถานีมุกดาหาร จ.มุกดาหาร จนถึงสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 15 – 18 ส.ค. 65 ประมาณ 0.80 – 1.00 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
ทั้งนี้ กอนช.ขอให้จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง
ตามที่ กอนช. ได้มีประกาศแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) โดยกรมชลประทานได้ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดังนี้
เขื่อนกิ่วคอหมา ระบายน้ำในอัตราประมาณ 60-150 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 65 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป
เขื่อนกิ่วลม ระบายน้ำในอัตราประมาณ 100-150 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 65 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป
เขื่อนเจ้าพระยา ปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำในช่วง 1,100-1,400 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึงบริเวณ ต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อีกประมาณ 0.20-0.60 เมตร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2565 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 11 – 17 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา บึงบอระเพ็ด น้ำพุง อุบลรัตน์ บางพระ หนองปลาไหล และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 27/2565 ลงวันที่ 11 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 13 – 18 ส.ค. 2565 บริเวณสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม และตั้งแต่สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร จนถึง สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง
2. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดสุโขทัย เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ ต.น้ำพุ อ.คีรีมาศ ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ลดลง และเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ดงเจริญ อ.สากเหล็ก และอ.วังพรายพูน ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ลดลง และเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เนินมะปราง และ อ. นครไทย ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ลดลง และเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายใน 1-2 วัน
จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่นํ้าท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มสัก โดยที่สถานี S.3 แม่น้ำป่าสักมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.04 ม.รทก. และมีแนวโน้มลดลง
จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และอ.บางปลาม้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดการณ์ว่าไม่เกิน 7 – 14 วัน หากไม่มีฝนตกจะกลับสู่ภาวะปกติ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.บางปะหัน อ.ผักไห่ และจังหวัดอ่างทอง ได้แก่ อ.ป่าโมก ปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง การระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัว โดยปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 886 ลบ.ม/วินาที
จังหวัดเลย มีพื้นที่นํ้าท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ด้านซ้าย โดยมีระดับน้ำในลำน้ำหมันต่ำกว่าท้องสะพาน 15 ซม. ระดับน้ำในลำน้ำหมันมีแนวโน้มลดลงชั่วโมงละ 2 ซม. แต่น้ำยังคงท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ10 – 20 ซม. คาดว่า 1- 2 วัน หากไม่มีฝนตกจะกลับสู่ภาวะปกติ