กสิกรไทยชี้ครัวเรือนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย หลังราคาสินค้าสูงจะลากยาว

พฤติกรรมการใช้จ่าย หลังส่วนใหญ่มีมุมมองว่าสถานการณ์ราคาสินค้าสูงจะลากยาวไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ KR-ECI เดือน ก.ค. 65 ปรับดีขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลังราคาน้ำมันปรับลดลงเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา

แม้ราคาพลังงานจะยังอยู่ในระดับสูงแต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย.65 หนุนให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าที่สำรวจในเดือนก.ค.65 ปรับดีขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 32.5 และ 34.0 จาก 30.8 และ 32.9 ในเดือนมิ.ย.65 นอกจากนี้ การทยอยผ่อนคลายมาตรการการเปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยหนุนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ครัวเรือนส่วนมากยังมองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ขณะที่จำนวนครัวเรือนที่กังวลเรื่องอนาคตจึงใช้จ่ายลดลงในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาและสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ ( 65.6%) มองว่าระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงไปอีกเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยปัจจุบันได้มีการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยส่วนมาก (27.7%) มีการปรับลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น กินเลี้ยงสังสรรค์ และบริโภคสินค้าเดิมในปริมาณที่ลดลง
ในระยะข้างหน้าครัวเรือนยังมีแนวโน้มเผชิญสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ทั้งจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตมาสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าภาคการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเข้ามาช่วยหนุนการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้บางส่วน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 5 (เริ่มใช้ ก.ย.65) และโครงการอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงที่รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะระดับราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนการขนส่งต่าง ๆ ซึ่งกดดันให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประกอบอาหาร ค่าขนส่งต่าง ๆ ทำให้ในครัวเรือนส่วนมาก (78.7%) ยังมีมุมมองว่ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่มีครัวเรือนจำนวนมากขึ้น ( 34.4% ในเดือนก.ค.65 จาก 20.8 ในเดือนมิ.ย. 65) ใช้จ่ายลดลงในปัจจุบันเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ครัวเรือนมองว่าสถานการณ์สินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะเริ่มคลี่คลายลงเมื่อใด ผลสำรวจระบุว่าครัวเรือนมากกว่าครึ่ง ( 65.6%) มองว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป ขณะที่ครัวเรือนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือนเม.ย. โดยมีการลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น ดูหนัง และกินเลี้ยงสังสรรค์เพิ่มขึ้น ( จาก 14.5% มาอยู่ที่ 27.7%) รวมถึงยังมีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้สินค้าในปริมาณที่น้อยลงเพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น ปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของการบริโภคในภาคครัวเรือนจะยังถูกดันจากความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ และมุมมองที่ว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงจะยาวนานจึงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย

เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงอาหารและบริการ ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เช่น แก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในลักษณะขั้นบันได อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะเข้ามาช่วยให้มุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานปรับดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางเข้ามามากขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 (High season) นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 วงเงิน 800 บาท ที่มีเป้าหมายครอบคลุม 26,500,000 สิทธิ ที่จะเริ่มใช้ในเดือนก.ย.-ต.ค 65 นี้ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองครัวเรือนได้บางส่วน ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาที่สูงขึ้นนี้ยังไม่มีจุดสิ้นสุดในระยะอันใกล้ นอกจากเงินช่วยเหลือแล้ว ภาครัฐอาจเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเชื่อมั่น หรือสร้างเสริมในส่วนของรายได้และการจ้างงานเพิ่มเติมอย่างยั่งยืน
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ค.65) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 32.5 และ 34.0 อย่างไรก็ตามครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคยังมีแนวโน้มเปราะบาง ภาคการท่องเที่ยวและความช่วยเหลือจากภาครัฐจะเข้ามามีส่วนประคับประคองบางส่วน