สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ส.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และในภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.อุบลราชธานี (99) จ.แม่ฮ่องสอน (70) และ จ.กาญจนบุรี (39)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 47,042 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,912 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณ สถานี S.3 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดยระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง ในวันที่ 12 ส.ค.65 มวลน้ำดังกล่าว จะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง พบว่า แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ในช่วงวันที่ 10-16 ส.ค.65
เวลาประมาณ 18.00 – 21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าในช่วงดังกล่าว ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80-2.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ดังนั้นขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก และผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
ตามที่ กอนช.ได้มีประกาศแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำกิ่วลม อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา และอ่างเก็บน้ำ ป่าสักชลสิทธิ์ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำขึ้นเป็นลำดับ จากอัตรา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที
ในวันที่ 9 ส.ค.65 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป จนถึงอัตรา 120 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อทรัพย์สินของประชาชนจากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นอีก จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูล บางปะกง และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 25/2565 ลงวันที่ 9 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้วิเคราะห์จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 2565 พบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงแม่น้ำป่าสักเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณ สถานี S.3 อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ มวลน้ำดังกล่าวจะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 10 – 16 ส.ค. 2565 อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ดังนั้นขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก และผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทาน เตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ ลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เฝ้าระวังน้ำเหนือ โดยได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ย้ำให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์รวมทั้งลดผลกระทบจากสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 10 – 13 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง