สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 ส.ค. 65
ฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.พังงา (101) จ.อุดรธานี (87) และ จ.ระยอง (79)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,320 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,316 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์และน้ำพุง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2-10 ส.ค. 2565
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เช่น กทม. พร้อมกับตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งบูรณาการความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง สำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างทันที โดยเน้นการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อพร้อมในการอพยพหากเกิดสถานการณ์ได้ทันที ช่วยลดความเสียหายต่อประชาชน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 8 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้น อย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูล บางประกง และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
2. สถานการณ์อุทกภัย
สถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลางประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในระหว่างวันที่ 30 ก.ค. – 2 ส.ค. 65 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จ. (แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก อำนาจเจริญ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ นครราชสีมา ชลบุรี พังงา กระบี่ ภูเก็ต) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จ. (นครราชสีมา ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา) โดยมีรายละเอียดดังนี้
จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 เวลา 09.00 น. น้ำจากลำน้ำจักราชเอ่อลนตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ ตำบลท่าลวง อำเภอพิมาย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับ ที่สูงขึ้น รวมกับน้ำปาที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก อำเภอภูเขียว บริเวณ ลำห้วยหัววัว และหนองคอนไทย พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 800 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผงที่รับมาจากม่น้ำเจ้าพระยา ไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในชวงที่ตลิ่งต่ำ ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขัง รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ และ อำเภอเสนา ปัจจุบันความสูงของระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดการระบายน้ำลง เพราะปริมาณน้ำเหนือเริ่มลดลง คาดว่าจะคลี่คลายภายใน 2-4 วัน