สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ส.ค. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.กระบี่ (246 มม.) กรุงเทพมหานคร (136 มม.) และ จ.เชียงราย (91 มม.)
พื้นที่เกิดอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 30ก.ค. -2 ส.ค. 65 บริเวณสุพรรณบุรี นครราชสีมา ชลบุรี พังงา กระบี่ และภูเก็ต
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,236 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,240 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ฉบับที่ 24/2565 ในช่วงวันที่ 2–10 ส.ค. 65
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และ อุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี ลพบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ตรัง และพัทลุง
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 8 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง
น้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูลบางประกง และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
2. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากวันที่ 31 ก.ค. 2565 เกิดฝนตกหนักส่งผลให้น้ำป่าจากเทือกเขาไหลลงสู่ลำน้ำเฟี๊ยะ (ลำน้ำสาขาแม่น้ำแควน้อย) ส่งผลให้มีบ้านเรือนประชาชนประมาณ 40 หลังคาเรือน ประกอบด้วยหมู่ที่ 1,8,2,10 และ 4 ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จากดินโคลนและเศษซากวัชพืชไหลมากับน้ำ แนวโน้มสถานการณ์น้ำคาดการณ์ หากไม่มีฝนตกซ้ำลงมาในพื้นที่ จะเข้าสู่ภาวะปกติ 1-2 วัน เนื่องจากลักษณะของพื้นที่มีความลาดชันค่อนข้างสูง ทำให้น้ำป่าไหลจากเทือกเขาจากฝนตกหลายชั่วโมงหรือตกสะสม จะเป็นในลักษณะมาเร็วและลดระดับลงเร็ว
จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม รวม 1 อ. ได้แก่ อ.ภูเขียว พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 800 ไร่ บริเวณบ้านม่วง ต.กุดยม และ ต.หนองคอนไทย ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ประสบภัย มีแนวโน้มลดลดตามลำดับ และคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3 วัน
จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่น้ำท่วมขังใต้ถุนรวม 1 อ. ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ บริเวณ หมู่ที่ 9 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ประมาณ 10 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูง 0.10 -0.30 เมตร จากการที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 1,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยมีระดับสูงขึ้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำน้อยเริ่มลดลง เนื่องจากประตูระบายน้ำยางมณีปิดการระบาย คาดการณ์เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำน้อยกว่า 800 ลบ.ม/วินาที สถานการณ์จะคลี่คลาย ภายใน 1-2 วัน ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบาย 749 ลบ.ม./วินาที
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผง ที่รับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในช่วงที่ตลิ่งต่ำ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อ. ได้แก่ อ.ผักไห่ และ อ.เสนา ความสูงของระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดการระบายน้ำลง เพราะปริมาณน้ำเหนือเริ่มลดลง และคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน