สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ส.ค. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สระแก้ว (115 มม.) จ.สุรินทร์ (107 มม.) และ จ.พิษณุโลก (83 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,171 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,170 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำ 13 มาตรการรับมือ ฤดูฝน ปี 2565 และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ กรมชลประทาน (ชป.) ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและความพร้อมใช้งานประตูระบายน้ำ (ปตร.) ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา (ผักไห่ เจ้าเจ็ด-บางยี่หน พระยาบรรลือ และพระพิมล) พร้อมทั้งติดตามสภาพปัญหาน้ำท่วมริมแม่น้ำน้อย ในพื้นที่ อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า มีน้ำเอ่อล้นและท่วมในบางพื้นที่ของ จ.พระนครศรีอยุธยา และในพื้นที่ ชัณสูตร-ยางมณี จ.อ่างทอง ค่อนข้างมาก ซึ่งปริมาณน้ำได้ไหลมา สมทบกับน้ำเจ้าพระยาที่ระบายออกมาจาก ปตร.บรมธาตุ จ.ชัยนาท ลงสู่แม่น้ำน้อย จ.ชัยนาท โดยจะไหลผ่าน จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำมากในช่วงปลายเดือนส.ค.-ก.ย. 65 จะต้องระบายน้ำลงพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ควบคู่กับการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยจะสามารถระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำได้หลังเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จในกลางเดือนก.ย.
ในขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.35 ม. มีแนวโน้มลดลง โดยจะมีน้ำไหลผ่าน เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลดลงตามลำดับ ตั้งแต่ วันที่ 30 ก.ค. 65 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำลดลงในระยะต่อไป ทั้งนี้ กอนช. ได้ประสานให้ ชป. บริหารจัดการน้ำโดยควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 8 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับ กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพื่อเป็นการบูรณาการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเน้นความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของกรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนที่ตกหนักหลายชั่วโมง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านบ่อโพธิ์ หมู่ 1 ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยบางจุดระดับน้ำสูงกว่า 150 ซม. โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำเฟี๊ยะที่ล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำและหลากไปตามถนนรอบหมู่บ้าน ปัจจุบันมวลน้ำได้ลดลงเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ลุ่มต่ำยังมีท่วมขังประมาณ 50 ซม.
จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงในเขตจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากมาจาก ตำบลไทรน้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ไหลบ่ามายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทรายพูน มีน้ำท่วมขังพื้นที่บ้านเรือนราษฎร และพื้นที่นาข้าว 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองปลาไหล ตำบลหนองพระ และ ตำบลวังทรายพูน สถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายในวันนี้ ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม
จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำ ในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูเขียว พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 800 ไร่ บริเวณบ้านม่วง ตำบลกุดยม และตำบลหนอง คอนไทย ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ประสบภัย มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ
จังหวัดนครราชสีมา มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เขื่อนพิมายต้องเร่งระบายน้ำส่งผลให้พื้นที่การเกษตรด้านท้ายเขื่อนในพื้นที่ตำบลในเมืองและตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 5 – 10 ซม. ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผง ที่รับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในช่วงที่ตลิ่งต่ำ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา โดยได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเหลืออัตรา 722 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 31 ก.ค. 65 และจะทยอยปรับลดเหลืออัตรา 650 ลบ.ม./วินาที ในเวลา 18:00 น. ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป