สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ก.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.บึงกาฬ (120 มม.) จ.อุตรดิตถ์ (115 มม.) และ จ.นราธิวาส (95 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,149 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,142 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช.ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 เวลา 06.00 น. ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 993 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.08 ม. แนวโน้มลดลง และได้ควบคุมปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 850 ลบ.ม./วินาที โดยได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือประมาณ 850 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 65 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป ทั้งนี้กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำโดยควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
กรุงเทพมหานคร เตรียมระบบระบายน้ำ 2 ส่วน ประกอบด้วยระบบคลองและระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นทางด่วนน้ำที่อยู่ในระดับ-30 ม. พร้อมอาคารรับน้ำ ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก สามารถรับน้ำได้ประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที กรุงเทพมหานครระบายน้ำทั้งสองฝั่งเกือบ 2,000 ลบ.ม./วินาที โดยต้องดึงน้ำผ่านคลองย่อยไปยังคลองหลักจนถึงประตูระบายน้ำ ซึ่งกั้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วต้องสูบระบายออก และได้เพิ่มประสิทธิภาพของปั๊มรวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพคลอง ปรับปรุงประตูน้ำ ปรับปรุงระบบปั๊ม ปรับปรุงการลอกคลอง การเก็บขยะ และสร้างอุโมงค์ เพื่อให้ระบบระบายน้ำสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2565 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 28 ก.8. – 1 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 19.00 – 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับกรมชลประทานได้ประกาศแจ้งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 2565 ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 8 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
2. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลลงคลองวังยาง วังโพรงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงใน เขตจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากมาจาก ต.ไทรน้อย อ.เนิน มะปราง จ.พิษณุโลก ไหลบ่ามายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดขอนแก่น เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดเลย ฝนตกหนักน้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านอาฮี ต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 2 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดนครราชสีมา มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทำให้เขื่อนพิมายต้องเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรด้านท้ายเขื่อนในพื้นที่ต.ในเมืองและต.ท่าหลวง อำเภอพิมาย ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ในแนวโน้มทรงตัว เมื่อฝนหยุดตกเขื่อนพิมายจะปรับลดการระบายน้ำลงและจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายในสามวัน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ และอ.เสนา กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป
จังหวัดภูเก็ต เกิดฝนตกน้ำท่วมขังผิวการจราจร บริเวณ ต.ศรีสุนทร ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ต.รัษฎา อ.เมือง บ้านเรือนประชานได้รับผลกระทบ 2 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว