สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ก.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.อุบลราชธานี (104 มม.) จ.ชุมพร (94 มม.) และ จ.เพชรบุรี (72 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,117 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,105 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช.ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 65 ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,080 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.82 เมตร โดยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในพื้นที่ตอนบนปริมาณฝนน้อยและปริมาณน้ำท่าลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเหลืออัตรา 980 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 65
เวลา 09.00 น.และจะทยอยปรับลดเหลือประมาณ 850 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองสาขาต่างๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
กรุงเทพมหานคร ตรวจแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กรุงเทพมหานครมีแนวเขื่อนกันน้ำ 88 กิโลเมตรเป็นของเอกชน 8 จุด โดยบริเวณท่าเรือสี่พระยา เป็นจุดหนึ่งที่มีปัญหาน้ำท่วมหากมีสถานการณ์น้ำขึ้น เนื่องจากเป็นจุดฟันหลอ จากทั้งหมด 23 จุด อยู่ฝั่งพระนคร 14 จุด ฝั่งธนบุรี 9 จุด ที่น้ำอาจทะลักเข้าไปได้ โดยให้สำนักระบายน้ำวางแผน จัดคนเฝ้าระวังแต่ละจุด ทั้งกลางวันกลางคืน นอกจากนี้ จะรีบจัดเก็บผักตบชวาที่มีอยู่มากโดยเร็ว เพราะอาจมีปัญหากับการสัญจรของเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเพราะยังอยู่ในความสามารถที่ กรุงเทพมหานครสามารถรับได้ ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2565 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 2565
เวลาประมาณ 19.00 – 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับกรมชลประทานได้ประกาศแจ้งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565 ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 8 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้จัดเตรียมเรือจำนวน 10 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ประมาณ 40 คน เพื่อจัดเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง
3. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลลงคลองวังยาง วังโพรงเอ่อล้นเข้าท่วม บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงใน เขตจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากมาจาก ต.ไทรน้อย อ.เนิน มะปราง จ.พิษณุโลก ไหลบ่ามายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดขอนแก่น เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาเข้าท่วมในพื้นที่ ต.หัวเวียง
ต.บ้านกระทุ่ม ต.บ้านโพธิ์ ต.บ้านแพน ต.รางจรเข้ อ.เสนา ต.บ้านใหญ่ ต.ลาดชิด ต.กุฎี ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ ต.ทางช้าง
ต.ตะกู ต.น้ำเต้า อ.บางบาล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม