ตะลึง!! รัฐบาลเพิ่มงบขาดดุลปี 66 อีกแสนล้านบาท
ครม.เห็นชอบเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 119,199.41 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงการใช้จ่าย 4,092.17 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2565 ครั้งที่ 3
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 26 ก.ค. 2565 ได้เห็นชอบการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วยการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายรวมวงเงินทั้งสิ้น 119,199.41 ล้านบาท และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 4,092.17 ล้านบาท พร้อมกับมอบหมายให้สำนักงบประมาณนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับการปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายนั้น ประกอบไปด้วย 1) รายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพันหรือค่าใช้จ่ายตามสิทธิที่เกิดจากฎหมาย สัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ วงเงิน 26,862.25 ล้านบาท และ 2)รายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 วงเงิน 92,337.16 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้ว วงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามแนวทาง หลักเกณฑ์ แผนและขั้นตอนที่ ครม. ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ที่กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ร่าง)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินภายในปี 2566
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การขอปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จำแนกตามกระทรวง ได้ดังนี้ 1.งบกลาง 58,075 ล้านบาท 2.สำนักนายกรัฐมนตรี 217.49 ล้านบาท 3.กระทรวงกลาโหม 108.35 ล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง 6,196.57 ล้านบาท 5.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 38 ล้านบาท 6.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 520.26 ล้านบาท 7.กระทรวงอุดมศึกษาฯ 18.59 ล้านบาท 8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6,516.54 ล้านบาท 9.กระทรวงคมนาคม 4,413.65 ล้านบาท 10.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,368.32 ล้านบาท
11.กระทรวงมหาดไทย 1,278.50 ล้านบาท 12.กระทรวงยุติธรรม 179.67 ล้านบาท 13.กระทรวงแรงงาน 15,455.76 ล้านบาท 14.กระทรวงวัฒนธรรม 61.88 ล้านบาท 15.กระทรวงศึกษาธิการ 2,600.54 ล้านบาท 16.กระทรวงสาธารณสุข 969.62 ล้านบาท 17.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี 648.39 ล้านบาท 18.รัฐวิสาหกิจ 1,596.16 ล้านบาท 19) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,266.35 ล้านบาท และ 20.ทุนหมุนเวียน 14,669.68 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 3 โดยอนุมัติการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 14,177 ล้านบาท จากเดิม 1,415,103.57 ล้านบาท เป็น 1,429,280.57 ล้านบาท แผนบริหารหนี้เดิมปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,500 ล้านบาท จากเดิม 1,501,163.56 ล้านบาท เป็น 1,502,663.56 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 20,835.80 ล้านบาท จากเดิม 363,269.01 ล้านบาท เป็น 384,104.81 ล้านบาท และเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะที่ปรับปรุงครั้งที่3 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อไป