สศค.คงจีดีพีปีนี้ 3.5%
สศค.มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้ และปีหน้ายังมีเสถียรภาพ แม้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความรุนแรง 2 เรื่องใหญ่คือ โควิด-19 และราคาพลังงานแพง โดยคาดว่า ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากต้นปี โดยมีช่วงระหว่างอยู่ที่ 3-4%
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังดีอย่างต่อเนื่อง มาจาก 1.ภาคการส่งออก 2.ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และ3.การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ส่วนปีหน้า (2566) สศค.คาดว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 3.2-4.2% อยู่ในระดับเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 มีโอกาสจะขยายตัวได้ 4.2%
“สศค.มองว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้สะดุด เพราะไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว 2.2% หากต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5% เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 – 3 และ 4 ต้องมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ (26 ก.ค.) ครม.ไฟเขียวหลายๆ มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส5”
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งนับตั้งแต่เปิดประเทศ เมื่อต้นเดือนก.ค. ด้วยการยกเลิก Thailand Pass ทำให้คาดว่า เดือนนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก โดยตลอดทั้งปี ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน จากเดิมตลอดทั้งปี 6.1 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว ทั้งปี มีนักท่องเที่ยวเพียง 400,000 คน
ส่วนรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.8% ต่อปี และมูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่า จะขยายตัวที่ 7.7% ต่อปี
ขณะที่ รมว.คลัง กล่าวว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าใช้เวลาส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในอีกประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้กู้เงินอย่างแน่นอน จึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้พิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้า อย่าให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไปจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยังระบุว่าเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ แม้ว่าปัจจุบันภาวะเงินเฟ้อของไทยจะมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ไม่ใช่จากความต้องการบริโภคที่มากเกินไป ซึ่งจากวิกฤติโควิดและวิกฤติราคาพลัง งาน เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชนในเรื่องกำลังซื้อ
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นั้น ก็เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป เพราะจะกระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งขณะนี้แบงก์ชาติก็ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด”
พร้อมยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีส่วนกระทบต่อหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะต้นทุนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ปรับเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปัจจุบัน หนี้ของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นแบบดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่การระดมทุนในระยะต่อไปก็อาจมีผลกระทบที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นได้
ทั้งนี้ ในวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หรือเอฟโอเอ็มซี จะประชุมเพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า จะมีการปรับขึ้นอีก 0.75% ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25%