กสิกรไทยคาดเฟคขึ้นดอกเบี้ย 0.75%
คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง
ในการประชุม FOMC วันที่ 26-27 ก.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง โดยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ที่ออกมาล่าสุดยังคงเร่งตัวสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีที่ 9.1% YoY ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก
เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ออกมาเร่งตัวสูงขึ้นจะยังคงเป็นแรงกดดันให้เฟดต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก และคงพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 2565 ยังคงเร่งสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีที่ระดับ 9.1% YoY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 8.8% YoY ขณะที่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นที่ 1.3% MoM ส่งผลให้เฟดเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดคงพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เช่นเดียวกับในการประชุมในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่มองความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1.00% นั้นยังคงมีน้อยกว่าความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1.00% จะถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้งที่มากสุดในรอบ 40 กว่าปี ซึ่งอาจสร้างความวิตกกังวลต่อตลาดได้ โดยตลาดจะมีมุมมองว่าเฟดมีความวิตกกังวลอย่างมากต่อตัวเลขเงินเฟ้อและมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถควบคุมได้จึงจำเป็นต้องให้ยาแรงกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ ดังนั้น เฟดคงต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากจะดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ไปสู่ soft landing แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกยังมาอยู่ในภาวะเร่งตัว ทำให้เฟดไม่มีทางเลือกมากนักที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวขึ้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงปี 2566
ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง โดยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-16 ก.ค. 2565) เพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 251,000 ราย โดยหลายบริษัทเริ่มมีการปรับลดการจ้างงานท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ขณะที่ในด้านการบริโภคที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ยังขยายตัวได้ที่ 1.0% MoM แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นมูลค่าตามราคาปัจจุบัน ซึ่งหากหักปัจจัยด้านราคาด้วยเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ที่อยู่ที่ 1.3% MoM ยอดค้าปลีกแท้จริงจะติดลบจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนมิ.ย. ยังลดลงมาแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะชะลอลง ซึ่งหากเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศให้ชะลอลงไปกว่าเดิม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค กล่าวคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 2 ไตรมาสติดต่อกัน ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวไปแล้วในไตรมาส 1/2565 ที่ -1.5% YoY อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว จึงไม่มองว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2552 ขณะที่ ในด้านของเงินเฟ้อคาดว่าจะอ่อนแรงลงได้บ้างตามอุปสงค์ที่ชะลอลง และอาจส่งผลให้เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงได้ในระยะข้างหน้า
สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวของเฟดจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังมีทิศทางแข็งค่า ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่มีการดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับเฟดเผชิญทิศทางค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง