สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ก.ค. 65
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย (122 มม.) จ.ชัยภูมิ (79 มม.) และ จ.ตราด (74 มม.)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองคาย เลย ชัยภูมิ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และพังงา
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,574 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,596 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ติดตามสถานการณน้ำหลังประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 เฝ้าระวังพื้นที่น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักและหนักมาก บริเวณลุ่มน้ำน่านและลำน้ำสาขา รวมถึงแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำป่าสัก และจากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน (ชป.) ในวันที่ 27 ก.ค. 65 ที่สถานี C.2 อ.เมืองจ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 900-1,000 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่สถานี C.19 มีปริมาณ 150 ลบ.ม./วินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,050-1,150 ลบ.ม./วินาที ชป. มีความจำเป็น ต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 850-1,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60-0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผงจ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และบริเวณแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือในพื้นที่ 4 จังหวัด (พิษณุโลก พิจิตร ลำปาง และอุตรดิตถ์) 6 ลุ่มน้ำ หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอย่างทันท่วงที
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 21 – 25 ก.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 6 ลุ่มน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร ลำปาง และอุตรดิตถ์ หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมประสานงานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. ดำเนินการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอย่างทันท่วงที
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 25 – 28 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
4. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดอุตรดิตถ์ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่อง ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ฟากท่า และ อ.เมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสํารวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือแล้ว ปัจจุบันปริมาณฝนตกลดลง คาดการณ์หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มจะเข้าสู่สภาวะปกติ ภายใน 1-2 วัน
จังหวัดเลย เกิดฝนตกหนักบริเวณอำเภอเมืองเลย ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองเลย กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกให้ไหลลงตามคลองชลประทานและลงสู่แม่น้ำเลยต่อไป ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว คาดการณ์หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มจะเข้าสู่สภาวะปกติ ภายใน 3 วัน
จังหวัดระยอง เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.แกลง กรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำบริเวณ ปตร.หนองแหวน เพื่อเร่งผลักดันปริมาณน้ำที่สะสมออกนอกพื้นที่ ปัจจุบันสถาการณ์น้ำในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง
จังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.วังโป่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน หากไม่มีฝนในพื้นที่เพิ่ม
จังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดฝนตกหนักสะสมในเขตพื้นที่ภาคกลาง ทำให้ปริมาณน้ำในคลองหกวาสายล่างเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.บางน้ำเปรี้ยวกรมชลประทานเร่งระบายน้ำ ปัจจุบันปริมาณน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และคลองหกวาสายล่างมีระดับทรงตัว เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกจากพื้นที่ตอนบน ยังไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง