โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศประกาศไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ไม่เป็นธรรม ยืนกรานค้านเพิ่ม ‘กากอ้อย’

โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” ชี้เป็นการเสนอร่างกฎหมายที่โรงงานไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมพิจารณา ขัดหลักนิติธรรม สร้างความขัดแย้งในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมเสนอโมเดลดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรม ไม่ได้รับสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้
เนื่องจาก “กากอ้อย” ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 และโรงงานร้อย 30 และ “กากอ้อย” ถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น การเพิ่ม “กากอ้อย” ในร่าง พรบ. ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

“เราพยายามเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพและเกิดความร่วมมือบริหารอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับนี้ กลับดึงคนนอกเข้ามาร่างกติกาที่พยายามทำลายข้อตกลงและธรรมนูญของกฎหมายเดิม และจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด” นายปราโมทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่า พร้อมจะดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และดูแลผู้บริโภคในประเทศให้มีน้ำตาลทรายอย่างเพียงพอ โดยพร้อมจะบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในเวทีโลก โดยไม่ขัดต่อหลักการของ WTO เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่…) พ.ศ….

ความเป็นมา
กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งทุกประเทศที่ออกกฎหมายนี้ล้วนมีฐานมาจาก “ข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล” มีความเป็นธรรม ไม่ขัดหลักกฎหมายอื่นและผลประโยชน์สาธารณะ ก่อให้เกิดการส่งเสริมพัฒนา เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 บัญญัติขึ้นตามข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ปี 2525 ซึ่งกำหนดการคำนวณราคาอ้อยในหลักการแบ่งรายได้สุทธิที่ได้จากการขายน้ำตาลทรายในประเทศและส่งออกในแต่ละฤดูการผลิต ในอัตราส่วนร้อยละ 70 เป็นของชาวไร่อ้อย ร้อยละ 30 เป็นของโรงงาน และกำหนดให้ผลพลอยได้ทุกชนิดจากการหีบอ้อย ตกเป็นของโรงงานน้ำตาล ไม่ต้องนำมาคำนวณราคาอ้อย
ปี 2535-2545 ชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ปรับเปลี่ยนการคำนวณรายได้ของระบบ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยนำกากน้ำตาล และ รายได้จากโควตา ค. โดยนำค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 ปี ของส่วนต่างของน้ำตาลทรายขาวกับน้ำตาลทรายดิบ (ตลาดโลก) หักค่าแปรสภาพ ตามที่ กอน.กำหนด เข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ยังคงสัดส่วนแบ่งปันรายได้เดิมที่ 70/30
ปี 2559บราซิลยื่นฟ้องต่อ WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนการส่งออก ซึ่งเป็นที่มาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อย ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมุ่งแก้ไขข้อประเด็นที่ขัดกับข้อตกลง WTO และได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนทั้งชาวไร่ โรงงานน้ำตาลและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว
ปี 2564 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อยในนามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง อีก 7 ฉบับ รวมฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็น 8 ฉบับ โดย 6 ฉบับที่ไม่ใช่ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ต่างกำหนดให้ ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้
สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 59 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย กลับไม่มีผู้แทนโรงงานร่วมเป็นกรรมาธิการ ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพียงแต่ตั้งผู้แทนโรงงาน เป็นที่ปรึกษาจำนวน 6 คน และร่วมในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างอีก 3 คน ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียง
คณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ตามเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่เพิ่มคำ “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” แต่ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร กลับเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ให้เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยามดังกล่าว และเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
ปัจจุบัน ที่ประชุมวุฒิสภา อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย
เหตุที่โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยกับการนำ ‘กากอ้อย’ เป็น ‘ผลพลอยได้’
โรงงานทำสัญญาซื้อขายอ้อยจากชาวไร่อ้อย ตามความหวาน (น้ำตาลในอ้อย) และน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักอ้อยที่ซื้อ รวมกากอ้อย (ชานอ้อย) เศษหิน ดิน ทราย และสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ที่ติดมากับอ้อยที่ส่งเข้าหีบด้วย ดังนั้น อะไรก็ตามที่รวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานซื้อ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน
การกำหนด “กากอ้อย” ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน เป็น “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปัน จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน และจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สิ้นสุด ในการบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และประชาชนผู้บริโภคโดยรวม
พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “กากอ้อย” รวมทั้งกากตะกอนกรอง เป็นสิ่งปฏิกูลหรือของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องจัดหาสถานที่จัดเก็บ ต้องขออนุญาตในการขนย้าย บำบัด และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
โรงงานที่นำของเสียดังกล่าวไปสร้างมูลค่า โรงงานต้องลงทุนเองฝ่ายเดียวทั้งหมด ทั้งในด้านการจัดการ จัดหาเทคโนโลยี และการสร้างโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ในการสร้างมูลค่านี้ โรงงานได้ลงทุนไปมากทางด้านทรัพย์สิน เครื่องจักร และการพัฒนาเทคโนโลยี การที่ต้องนำผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนมาแบ่งปัน เป็นการทำลายบรรยากาศของการลงทุน และความตั้งใจในการพัฒนาเทคโนโลยี