สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ก.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.พังงา (175 มม.) กรุงเทพมหานคร (165 มม.) และ จ.ฉะเชิงเทรา (160 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 44,925 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,077 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (1 แห่ง)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณจ.แพร่ น่าน ลำปาง พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย นครราชสีมา ชัยภูมิ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง ตราด และพังงา
สทนช. ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วน สู่ความมั่นคงน้ำของประเทศ
ตามที่ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ โดยได้ดำเนินการคัดเลือกและสรรหากรรมการลุ่มน้ำครบถ้วนทั้ง 22 ลุ่มน้ำเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำ ให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ
สทนช. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารทรัพยากรน้ำ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังสภาพปัญหา พร้อมวางเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายจากทุกภาคส่วน
โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 2. แนวทางการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรน้ำ 3) แนวทาง
การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง 4) แนวทางจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำที่เหมาะสม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำและสทนช. โดยปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่ลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จ.หนองคาย ลุ่มน้ำชี ณ จ.ขอนแก่น ลุ่มน้ำมูล ณ จ.นครราชสีมา และจะมีการลงพื้นที่ในลุ่มน้ำอื่น ๆ จนครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 21 – 25 ก.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ
อ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565 กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำ บริเวณตำบลทุ่งคลี อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ และการระบายน้ำต่อไป
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 26 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารทรัพยากรน้ำ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังสภาพปัญหา พร้อมวางเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำ ให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมทั้งระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนากระบวนการ เทคนิคการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ปัจจุบันได้ดำเนินการในพื้นที่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล เรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการในลุ่มน้ำอื่น ๆ ที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ต่อไป