สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ก.ค. 65
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.ตราด (120 มม.) จ.จันทบุรี (117 มม.) และ จ.ลำปาง (116 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 44,876 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,021 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (1 แห่ง)
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 21/2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 21 – 25 ก.ค. 65 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และ จ.อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก จ.สระแก้ว และตราด
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.เลย บึงกาฬ ขอนแก่น และนครราชสีมา) ภาคตะวันออก (จ.สระแก้ว และตราด) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการวางแผนรองรับสถานการณ์ต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 21 – 25 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่
อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
2.1 กรมทรัพยากรน้ำ สำรวจจัดทำรูปตัดขวางลำน้ำ (cross section) ของสถานีอุทกวิทยาบ้านห้วยปริง ตำบลดอนยาง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพท้องคลองและเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ
2.2 กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ให้ระบายน้ำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่อุดตัน บริเวณ ถนนสวนผัก เขตตลิ่งชัน ถนนท่าข้าม เขตบางขุนเทียนถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี ถนนแยกอโศกมนตรี ถึงถนนรถไฟสายเหนือ เขตคลองเตย และถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 44,876 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งปริมาณน้ำ 39,021 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,381 ล้าน ลบ.ม. (62%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,472 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนน้ำพุง