สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 ก.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (100 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (66 มม.)และ จ.จันทบุรี (42 มม.)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.น่าน ชัยภูมิ ขอนแก่น ตราด ระนอง และนครศรีธรรมราช
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 44,805 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,966 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำเนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ในช่วงวันที่ 10–14 ก.ค. 65 ทำให้แม่น้ำสายหลักและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (วันที่ 18 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 41,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 34,253 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำ 9,792 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 15,079 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 20 – 24 ก.ค.65 นี้ ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ กอนช. จึงขอเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อรับทราบผลการดำเนินโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลฯ พร้อมพิจารณาลำดับแผนการดำเนินโครงการฯ และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ตามที่ กนช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการตรวจวัดปริมาณน้ำและตะกอนแม่น้ำโขง บริเวณ ลำน้ำก่ำ อ.นาแก จ.นครพนม ลำน้ำพุง อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ลำน้ำอูน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และห้วยบางทราย อ.หลวง อ.เมือง จ.มุกดาหาร
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 18 – 19 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 44,805 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 38,966 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,367 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,472 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนน้ำพุง
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 9,792 ล้าน ลบ.ม. (39%) โดยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย
4. สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำมาก โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
5. สถานการณ์อุทกภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จ. (นครราชสีมา เลย)ประชาชนได้รับผลกระทบ 44 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหาย อพยพชาวบ้าน และช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบัน จ.นครราชสีมา ระดับน้ำลดลงอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ส่วน จ.เลย อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์